Friday, June 18, 2010

ดาราคาทอลิก ปฏิบัติธรรม

Life Style : สุขภาพ
วันที่ 12 ตุลาคม 2552 04:00
มาลีวัลย์ เจมีน่า บทเพลงแห่งธรรม

โดย : สมสกุล เผ่าจินดามุข

มินท์ - มาลีวัลย์ เจมีน่า


เสียงเพลง 'มาลีวัลย์' ยังคมชัดเปี่ยมด้วยพลังอยู่เสมอ ผลจากการดูแลตนเองอย่างมีวินัย เธอไม่ใช้ชีวิตสุดโต่ง แต่ก็ไม่หย่อนเกินไป


มินท์ มาลีวัลย์ เป็นนักร้องเสียงคุณภาพที่มีคอนเสิร์ตและร่วมถ่ายทอดบทเพลงกับพี่ เพื่อน และน้องอยู่เสมอ และเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ กับ "กรีนคอนเสิร์ต" หมายเลข 12 ที่ขึ้นเวทีพร้อมกับมิตรอีก 32 ชีวิต เธอยอมรับว่า คอนเสิร์ตแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานมหาศาล

เมื่อใช้พลังมากจึงต้อง "สำรอง" พลังไว้ให้เพียงพอ

" ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา มินท์เป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว เป็นคนค่อนข้างออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์นึงต้องออกกำลังกายสักสามวัน" เจ้าของเสียงเพลงฝากดูแลผู้ชายคนนี้สักคนบอกถึงกิจวัตรที่ทำเป็นนิสัย

เธอเลือกออกกำลังกายที่บ้านกับเครื่องออกกำลังกาย มากกว่าออกไปเรียกเหงื่อบนคอร์ทแบตมินตัน กีฬาอีกประเภทที่ชอบเล่น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนชอบอยู่กับบ้านเพราะคร้านไปผจญกับสภาพจราจรในป่าคอนกรีต

"มันเป็นสิ่งที่เราต้องให้กับร่ายกายเรา ถ้าเรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ถ้าเราาอยากทำวันข้างหน้าให้ดี เราต้องทำปัจจุบันให้มันดี "

อุทธาหรณ์หนึ่งที่เตือนให้มาลีวัลย์ต้องออกกำลังกายอยู่เสมอคือ สุขภาพของพ่อกับแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก และหลักสัจธรรมที่ว่า สังขารไม่เที่ยง เธอจึงดูแลป้องกันเท่าที่ทำได้ มาลีวัลย์บอกว่า "นี่คือรางวัลเล็กน้อยที่เราให้กับตัวเองได้" อย่างไม่ยากเย็น

อาหารก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง บางครั้งเธอยอมตามใจปากรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง เธอไม่ทานสัตว์ใหญ่ แต่ได้โปรตีนจากปลา และไก่ ไม่ทานเนื้อวัว หรือหมู เมนูประจำโต๊ะสำคัญอีกอย่งคือ ผัก

ทุกวันเธอตื่น 6 โมงเช้า หรือ 7 โมง ถ้าเป็นช่วงปฏิบัติธรรม เธอจะตื่นตี 5 เพื่อปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิให้อาหารกับใจ ซึ่งเป็นการพักผ่อนอีกแบบหนึ่งที่เธอให้กับตัวเองอยู่เสมอ

" การลุกขึ้นมาปฏิบัติธรรมแต่เช้าตรู่เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งคะ ดีกว่าหลับลึกเสียอีก คนเรานอนหลับสนิทไม่เกินสองชั่วโมงหรอก ร่างกายได้พักหลังจากหลับลึกไปแล้ว การนั่งสมาธิจึงเป็นการพักทางร่างกายและจิตใจเราด้วย มันเป็นการพักอีกแบบหนึ่ง สารอาหารต่างๆ มันก็หลั่งออกมา เว้นแต่เวลาเราต้องขึ้นคอนเสิร์ตซึ่งใช้พลังงานมากกว่าปกติ ตอนนั้นเราถึงต้องการการพักผ่อนที่ต่อเนื่องยาวนาน"

เธอเป็นคนไม่ทานอาหารเย็น หลังบ่ายสองก็ไม่ทานแล้ว จนบางคนมองว่าเหมือนถือศีล 8 หากกระเพาะส่งสัญญาณเรียกร้องพลังงาน เธอเลือกดื่มนมเติมลงไป

อาหาร พักผ่อน สมาธิ ออกกำลังกาย คือหลักสำคัญที่มินท์ให้ความสำคัญตัวเองอย่างมาก และไม่ยอมให้พร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง วันไหนเวลาไม่พอเธอจะทำอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ให้ครบ

"บางวันเราอยากตามใจตัวเองบ้าง ก็มีโดยลิ้มลองของหวาน ที่ถือว่าเป็น taboo สำหรับอาชีพนักร้อง"

ของหวานไม่ดีสำหรับคอนักร้องเพราะทำให้คอเหนียว พวกแป้ง หรือ นม ก็ไม่ดีเหมือกนันทำให้มีเสมหะ เวลาร้องเพลงคอจะแห้งไว หรือรู้สึกมีก้อนจุกอยู่ในคอ นักร้องไม่ควรรับประทานของหวาน แต่บางครั้ง หากร่างกายต้องการของหวาน เธอยอมตามใจตัวเองบ้าง แต่ไม่ถึงกับปล่อยให้เคยตัว

ขนมปัง และเนยก็เป็น "ของต้องห้าม" สำหรับนักร้องที่เคร่งครัดเช่นกัน โดยเฉพาะเวลาขึ้นร้องเพลง ซึ่งนักร้องอาชีพที่ต้องดูแลเสียงตัวเองมากอย่างโอเปร่าจะเข้มงวดกับอาหารมากกว่าเธอนัก หากให้เทียบกับนักร้องเคร่ดครัดระดับนั้น เธอบอกด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่า "เธอคงเป็นคนไม่ดูแลตัวเองเท่าไร"

"เราก็ดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง เพราะถ้าให้สุดโต่งต้องมีผ้าห่อคอให้อุ่น ห้ามดื่มน้ำร้อนเกินไป ต้องเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ ห้ามทานเนย หรือข้าวผัดมันๆ ของหวานที่หวานจัดไม่ได้ เค็มมากก็ไม่ได้ ถ้าเราเรียนทฤษฎีจริงๆ จะมีบอกเลยว่า มีข้อห้ามอะไรบ้าง"

ตลอด 20 กว่าปีของเส้นทางอาชีพนักร้อง มาลีวัลย์เลือกถ่ายทอดเรื่องราวของความรัก และบ่อยครั้งเป็นเรื่องราวของความผิดหวัง จนทำให้เธอกลายเป็นนักร้องไอดอลของเพลงผิดหวังอกหักเลย

"มินท์ มาลีวัลย์เป็นนักร้องเจ้าแม่อกหักคะ" เจ้าตัวฉีกยิ้มรับฉายาหน้าชื่นตาบาน

เธอบอกถึงความพิเศษของเพลงอกหักในสไตล์เธอว่า มันเหมือนกับการบ่งหนอง ไปบ่งให้มันทะลุออกมาให้หายจากการเจ็บปวด เธอเหมือนเป็นศิราณีที่ทุกคนเข้ามาหา และมาฟังเพลง

"เหมือนพวกเขาไม่ได้ตัวคนเดียว เขารู้สึกว่า ในยามที่เขาทุกข์ ปวดร้อน เจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลาเปิดฟังเพลงมินท์ ก็รู้สึกว่าอย่างน้อยมีเพลงของมาลีวัลย์ที่คอยให้กำลังใจเขา เป็นอีกคนที่ทำให้เขามีกำลังใจต่อไป เขาคิดได้ เพราะเพลงที่มินท์ร้อง"

เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่า หลังจากจบงานคอนเสิร์ตทุกครั้ง มินท์จะเดินทางไป "พักใจ" ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถานที่ปลูกฝังพุทธธรรมแก่เยาวชนมาหลายกึ่งศตวรรษ

"เรื่องของกายเราก็พักผ่อนพอ แต่เรื่องของใจเป็นเรื่องใหญ่มาก หลายคนที่เครียด เขาไม่รู้เลยว่าใจมันเป็นใหญ่ เพราะเขาไม่ได้โฟกัสตรงนั้น พอเราเข้ามาทางนี้มีความรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว ความสำเร็จทุกอย่างอยู่ที่ใจ"

เดิมมาลีวัลย์นับถือศาสนาคริสต์ นิกายแคทอริก และเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนาอยู่พอตัว พอมองย้อนกลับไป เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมเธอถึงชอบทำบุญทำทานมาตั้งแต่เด็ก ทั้งที่พ่อแม่ไม่ได้สอน แปลกที่มินท์วัยเด็กจะคอยถามพี่เลี้ยงเสมอถึง "ผ้าเหลือง"

"ตอนเช้าพี่เลี้ยงไปใส่บาตรที่ตลาดก็จะติดตามเขาไป แต่จะคอยปิดคุณพ่อเป็นประจำ คุณพ่อไม่ทราบ ทุกวันอาทิตย์ต้องไปโบสถ์ (คริสต์) ทุกวันพุธตอนเย็นก็ต้องไป ก่อนเข้าเรียน ตอนนั้นเรียนที่ที่รุ่งฤดีก็ต้องเข้าโบสถ์ก่อน เป็นอะไรที่ ถ้าไม่ได้พูดว่าเราเป็นแคทอริก หรือพุทธ ก็ถือว่ามินท์เป็นคนที่อยู่กับศาสนามาตลอด จะอยู่ศาสนาอะไรเราก็จะเคร่ง อยู่ตรงไหนก็จะเคร่ง มีระเบียบวินัยกับสิ่งที่เราอยู่ตลอดเวลา"

พออายุประมาณ 14-15 เธอเริ่มมีความรู้สึกว่าอยากทำบุญมากขึ้น "โดยที่คุณพ่อก็ยังไม่ทราบ" เธอทำเสียงแผ่วกระซิบเล็กน้อยตอนท้ายประโยคเหมือนกลัวคุณพ่อได้ยิน

หลังจากพ่อเสียเป็นจุดเริ่มต้นให้มาลีวัลย์หันมาทางพุทธมากขึ้น แต่ยังไปโบสถ์คริสต์อยู่เสมอ

"สำหรับมินท์คิดว่า ถ้าเราทำดี ไม่ว่าทำดีอะไรก็ตาม มันไม่มีอะไรที่ผิด เรารู้อยู่แก่ใจ ดีชั่วเราอยู่แก่ใจ เรารู้อยู่ว่าเราทำอะไร"

มาลีวัลย์เข้าสู่วิถีพุทธมากขึ้น เริ่มทำบุญมากขึ้น ช่วงแรกที่ยังไม่ได้ศึกษาทางธรรมเธอจะเน้นเรื่องการให้ทานเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างโบสถ์ศาลา แต่ยังไม่ได้ก้าวเดินบนเส้นทางรักษาศีล หรือภาวนาเต็มตัว เวลานี้เธอยังสวดมนต์ตามทางแคทอริกสร้างสันติในใจ

จนกระทั่งเริ่มบวชชีพราหมณ์ และเข้ามาศึกษา โดยมีคุณยายแนะนำพาไปวัดมเหยงค์ จังหวัดอยุธยากับเพื่อน ได้เรียนรู้ปฏิบัติธรรมสมาธิครั้งแรก ได้นอนในศาลาร่วมกับผู้ปฏิบัตินับร้อยชีวิตครั้งแรกอีกเช่นกัน

"ก็แปลกใจนะว่า เออ เราก็ทำได้ เรารู้สึกดีที่ได้สวดมนต์ รู้สึกว่าสวดมนต์แบบไทยเป็นแบบนี้เอง " มาลีวัลย์เหลือบมองเพดานเหมือนนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

8 ปีที่แล้ว มาลีวัลย์ได้รู้จักกับยุวพุทธิกสมาคม และเข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติกับหลวงพ่อเกษมอยู่สองสามครั้งแล้วเว้นหายไปอีกหลายปี จนมาเจอเพื่อนกัลยาณมิตรแนะนำให้มาปฏิบัติ วิปัสนากรรมฐานที่ยุวพุทธฯ เธอเล่าว่า ช่วงนั้นตรงกับเดือนสิงหาคม วันแม่พอดี คิดว่าเหมาะเพราะจะได้ทำบุญให้คุณแม่ที่เสียไปแล้ว

หลังจากนั้นมาลีวัลย์เข้าออกยุวพุทธฯ เป็นประจำ ปฏิบัติธรรมเดือนเว้นเดือน บางครั้งยอมปฏิเสธงานร้องเพลงเพื่อเข้าปฏิบัติธรรม เธอมีความรู้สึกว่า "นี่แหละ เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตเรา สิ่งหนึ่งที่เเติมเต็มชีวิตเราได้"

" มันเหมือนกับว่า เรา lost มาตลอดชีวิต ตั้งแต่คุณพ่อเสีย เรารู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร หรือชีวิตมันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อยู่ไปวันๆ"

พอมาที่ยุวพุทธก็ได้เรียนรู้โลกทางธรรมมากขึ้น เป็นจุดประกายให้ศึกษาธรรม ถึงขนาดเจ้าตัวบอกว่าอยากเรียนอภิธรรมด้วยซ้ำ ผลจากการปฏิบัติทำให้เธอรู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต รู้ว่าชีวิตมีค่ามาก กว่าจะเกิดมาสักครั้ง

" ทางพุทธบอกว่ามันยากแสนยาก แล้วเราจะปล่อยให้ชีวิตสูญเปล่าไปอย่างนั้นเหรอ ทั้งที่ทุกนาทีมีค่า ทุกนาทีมีค่าจริงๆ " มินท์ย้ำเสียง

พอได้พบกับสิ่งดีงามแห่งชีวิต มาลีวัลย์จึงชี้ชวนให้มิตรที่รู้จัก และสนิทกันเข้าร่วมเดินทางธรรมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชรัส เฟื่องอารมณ์ หรือแต๋ม ไพบูลย์ เกิดเขียวแก้ว หรือปั่น

"เราเริ่มจากคนในบ้าน และครอบครัวก่อน แล้วชักชวนคนในวงการ มีพี่แต๋ม เป็นผู้ที่มีพระคุณคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าต้องรีบเลย บอกพี่แต๋มว่า พี่แต๋มเข้ามาปฏิบัติไหม ตอนแรกใช้เวลานานเหมือนกัน พอสามเดือนผ่านไปเราก็ถามเขาอีก พี่เขาก็บอกว่า เออ แกพูดจริงหรือเปล่าวะ"

ก่อนที่ชรัส เฟื่องอารมณ์ นักร้องเสียงสุขุมลุ่มลึกตอบตกลง มินท์เล่าว่าเธอต้องใช้ลูกอ้อนบอกกับแต๋มว่า "พี่ พี่ไปเถอะนะ เพื่อมินท์ ให้มินท์มีโอกาสตอบแทนบุญคุณพี่หน่อย "มาลีวัลย์ทอดเสียงออดอ้อนตามคำเล่า

คำตอบจากพี่แต๋ม เจ้าของเสียงเพลงอมตะ "เพราะฉะนั้น" (ฉันจึงทรนง) ตอบกลับมาว่า "แกชอบใช้คำพูดแบบนี้ 'ตอบแทนบุญคุณ' ทำให้ฉันใจอ่อน " ก่อนส่งเสียงละห้องตามมาดว่า "อ้ะ ไปก็ได้"

นอกจากชรัสแล้ว ยังมีปั่น ไพบูลย์ เกิดเขียวแก้วที่ได้รับชักชวนเข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้อะไรบางสิ่งบางอย่าง และสร้างความประทับใจจนชายหนุ่มหนุ่มโรแมนติกอย่าง ปั่นน้ำตาคลอ

เจตนาชักชวนคนรู้จักให้ร่วมปฏิบัติธรรมของมาลีวัลย์ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า ในเมื่อเธอได้รับประสบการณ์ดีจากการปฏิบัติธรรม อยากให้คนอื่นได้รับสิ่งดีๆ บ้าง

มาลีวัลย์ยังใช้ความเป็นศิลปินและพรสวรรค์ด้านน้ำเสียงของเธอถ่ายทอดเรื่องราวทางสายธรรมผ่านบทเพลงที่ไม่ได้วางแผงขายทั่วไป หรือมุ่งแสวงหารายได้

เพลงธรรมะชุดนำร่องบันทึกลงแผ่นซีดีตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว รวมทั้งหมดสี่เพลง ในโอกาสฉลอง 80 พรรษาของหลวงพ่อจรัญ วันอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นวัดที่สามเณรของยุวพุทธิกสมาคมไปบวชเรียนเป็นจำนวนมาก

"เวลาเราพูดถึงเพลงธรรมะทุกคนจะคิดว่าจะต้องเข้าใจต้องมีเสียระฆัง ต้องมีเสียงพระสวดเป็นร้อย แต่ของมินท์เราเน้นเนื้อหาพูดถึงความกตัญญู พูดถึง การขัดเกลาจิตใจ ให้กำลังใจ เพลงทั้งหมด ทำนองและดนตรี มินท์แต่งเอง และให้น้อง และเพื่อนหลายคนมาร่วมบุญเรียบเรียงดนตรี เขียนเนื้อบ้าง"

ไม่น่าเชื่อว่า ซีดีเพลงธรรมะของมาลีวัลย์ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดผลิตแทบไม่ทันทั้งที่ไม่ได้โฆษณา ญาติธรรมหลายฝ่ายจากหลายสายเต็มใจซื้อมอบรายได้เพื่อการกุศล และสนใจนำไปเผยแพร่กันในวงกว้าง

ต่อมา เธอได้รับทาบทามจากประธานโครงการฯ ให้เพิ่มเพลงเพื่อเป็นสื่อสอนคติธรรมให้ผู้ปฏิบัติ และเผยแพร่ในวงกว้าง เวลาผ่านมาหนึ่งปี เพลงธรรมะที่เริ่มจากสี่บทเพลง ถูกเขียนเนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเป็น 12 เพลง ได้ศิลปินหลายคนจากแกรมมี่ อย่างชรัส เฟื่องอารมณ์ แต๋ม ฟอร์ด ญาณี จงวิสุทธิ์สินจัย หงส์ไทย ร่วมขับขาน แต่ละเพลงมีคอนเซ็ปต์แตกต่างกัน

ซีดีเพิ่งเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประจวบเหมาะกับยุวพุทธสมาคมเตรียมจัดงานขึ้นอาคารหลังใหม่ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีก่อน แต่ยังไม่ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาเป็นประธานเปิดอาคารเมื่อปลายเดือนที่แล้ว พร้อมถวายเพลงธรรมะเพื่อเป็นสิริฤกษ์สิริมงคล

นำบทเพลงแห่งธรรมเล่าขานในรูปแบบร่วมสมัย

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20091012/80953/มาลีวัลย์-เจมีน่า-บทเพลงแห่งธรรม.html

No comments:

Post a Comment