Sunday, December 5, 2010

รายงานพิเศษ : Dhamma Go... South Africa ธรรมะบุกแอฟริกาใต้



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 กรกฎาคม 2553 12:00 น.



ยามนี้ประเทศแอฟริกาใต้ กำลังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เนื่องจากได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลก ปี 2010 ระหว่างวันที่ 11 มิ.ย.-11 ก.ค. ดังนั้น ‘ธรรมลีลา’ จึงขอร่วมขบวนชวนไปดูพุทธศาสนาในประเทศนี้ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีศูนย์ศึกษาและปฏิบัติธรรมมากมาย กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (The Republic of South Africa) หรือเรียกสั้นๆว่า “แอฟริกาใต้” เป็นประเทศที่ อยู่ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 มีประชากรราว 47.6 ล้านคน เป็นคนผิวดำร้อยละ 79 ผิวขาวร้อยละ 9.6 ผิวสีผสมร้อยละ 8.9 และคนเชื้อชาติอินเดียร้อยละ 2.5 แอฟริกาใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และเผ่าพันธุ์ มีภาษาที่ใช้เป็นทางการถึง 11 ภาษา ภาษาหลักคือ อังกฤษ และ Afrikaans สำหรับเรื่องของศาสนานั้นนับถือคริสต์ร้อยละ 43.1 ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 8.2 และอื่นๆ ร้อยละ 48.7

แอฟริกาใต้เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวโลก เมื่อกองเรือยุโรปได้ใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางขนสินค้าเครื่องเทศระหว่างอินเดียกับยุโรป โดยแวะพักเรือระหว่างการเดินทางที่แหลมกู๊ดโฮป ในศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา ชาวไร่ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรที่บริเวณ Table Bay (ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งเมืองเคปทาวน์)

ก่อนหน้านั้นไม่นานในช่วง ปี 1680-1689 ได้มีผู้นับถือพุทธศาสนาอพยพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังแอฟริกาใต้ แต่ก็ไม่มากนัก ต่อมาราวศตวรรษที่ 18 ก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งชุมชนในเมืองเคปทาวน์ ซึ่งมีจำนวนมากพอๆกับชาวยุโรป

ชาวพุทธในแอฟริกาใต้ประกอบด้วยประชากร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนเอเชียที่อพยพเข้ามา และกลุ่มคนผิวขาวที่เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ซึ่งคนผิวขาวมักจะชอบปฏิบัติกันตามลำพัง โดยศึกษาจากหนังสือ และถามไถ่กับสถาบันต่างๆในต่างแดน เช่น สมาคมชาวพุทธในลอนดอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแรงงานมากมายจากอินเดียที่เข้าตั้งรกรากในเมืองกวาซูลูนาทาล ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่บางส่วนเป็นชาวพุทธและบางส่วนเป็นฮินดู ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาอยู่ในแอฟริกาใต้

ชาวพุทธกลุ่มต่างๆค่อยๆเติบโตขึ้นในเมืองใหญ่ในระหว่างปี 1970-1979 และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 1985 จึงเริ่มมีนิกายต่างๆในพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่อย่างชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่จากนิกายนั้นๆ เริ่มต้นเข้ามา มีบทบาทมากขึ้น ชาวพุทธกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายกันอยู่ก็ค่อยๆหายเข้าไปร่วมกับนิกายต่างๆ ซึ่งรวมถึงเถรวาท, เซน, นิชิเรน และทิเบต ซึ่งการสอนพุทธศาสนาในแอฟริกาใต้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศทางตะวันตก

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของชาวพุทธในแอฟริกาใต้ไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มเล็กๆเท่านั้น แต่ก็ยังมีกลุ่มใหญ่ด้วย โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีกิจกรรมของตนเอง ดำเนินไปอย่างเงียบๆ และไม่พยายามไปเปลี่ยนคนทั่วไป ให้หันมานับถือพุทธ แต่ทว่าผลดีที่เกิดขึ้นกับผู้มาศึกษาปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ช่วยเผยแพร่แนวคิดพุทธศาสนาไปสู่สังคมในวงกว้าง แม้ว่าสมาชิกบางคนที่เข้ามาปฏิบัติ จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ เพราะยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมของตัวเอง ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติวิปัสสนา

ในปี 1992 พระอาจารย์ชิงหวิน เจ้าอาวาสวัดโฝวกวงซัน ที่ไต้หวัน ได้ริเริ่มให้มีการตั้งวัดหนานฮวาขึ้น ที่เมืองบรังค์ฮอร์สสปรูท ซึ่งถือเป็นวัดในพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกของแอฟริกาใต้ โดยเปิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1996

ล่าสุด เดือนตุลาคม ปี 2009 วัดพระธรรมกายของไทย ได้เริ่มดำเนินการสร้างวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศนี้ โดยพัฒนาจากการเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมโจฮันเนสเบิร์กมาแล้ว 3 ปี

วัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ
ในเมืองสำคัญๆของแอฟริกาใต้

• เมือง Bronkhorstspriut :
African Buddhist Seminary (สาขาวัดโฝวกวงซัน ไต้หวัน), Nan Hua Temple (สาขาวัดโฝวกวงซัน)

• เมือง Johannesburg : Johannesburg (FWBO), Johannesburg Zen Group (ปฏิบัติตามแบบวัดโชเจของเกาหลี), Kagyu Samye Dzong (นิกายกาคิวของทิเบต), ROKPA (องค์กรการกุศลของนิกายกาคิวของทิเบต), The SGI-SA Cultural Centre (ศูนย์วัฒนธรรมของสมาคมโซคา งักไก สากล มีรากฐานจากนิกายนิชิเรนของญี่ปุ่น), Vajrapani Buddhist Centre (นิกายกดัมปะของทิเบต), Benoni Cultural Centre (สาขาวัดโฝวกวงซัน), The Lam Rim Buddhist Centre of South Africa (ศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาของทิเบต), Wat Buddha Johannesburg (สาขาวัดพระธรรมกาย)

• เมือง KwaZulu Natal : Buddhist Retreat Centre (ปฏิบัติตามแบบเถรวาท), Durban Mahasiddha Kadampa Buddhist Centre (นิกายกดัมปะของทิเบต), Newcastle Meditation Centre (สาขาวัดโฝวกวงซัน)

• เมือง Cape Town : Buddhist Theravada Centre (ศูนย์ปฏิบัติตามแบบเถรวาทของมาเลเซีย), Buddhist Theravadan Group (ศูนย์ปฏิบัติตามแบบเถรวาทของศรีลังกา), Cape Town Cultural Centre (สาขาวัดโฝวกวงซัน), Cape Town Samye Dzong (นิกายกาคิวของทิเบต), Kagyu Samye Dzong-Capetown (นิกายกาคิวของทิเบต), Rondebosch Dharma Centre (นิกายเซนของเกาหลี), Vipassana Association of South Africa (ปฏิบัติตามแนวของอาจารย์โกเอนกา), The Wisdom Centre(สาขาของนาลันทาโพธิและชัมบาลา), The Dharma Centre (ศูนย์ใหญ่นิกายเซนของเกาหลี)

• เมือง Durban : Durban Meditation Centre (สาขาวัดโฝวกวงซัน), Durban Zen Group (ปฏิบัติตามแบบวัดโชเจของเกาหลี), Good Heart Dharma Group (นิกายเกลุกปะของทิเบต), Mahasiddha Kadampa Buddhist Centre (นิกายเกลุกปะของทิเบต)

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ย่อยๆของแต่ละนิกาย ที่บรรดาสาวกไปจัดตั้งขึ้นตามเมืองต่างๆอีกหลายแห่ง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 116 กรกฎาคม 2553 โดย กองบรรณาธิการ)


No comments:

Post a Comment