Thursday, April 14, 2011

เธอติดคุก เพราะว่าถูกทำร้าย

เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 28 มีนาคม 2554 เวลา 10:18 น

ซิมาดูเด็กกว่าวัย 15 ปีของเธอ ผมพบซิมาที่แดนผู้ต้องขังหญิงของทัณฑสถานบาดัมบัคในกรุงคาบูลเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง ซิมาไม่ค่อยพูดจา แต่ว่าดวงตาของเธอฉายแววแห่งความทุกข์ระทมเต็มเปี่ยม ทนายจำเลยคนหนึ่งบอกว่าเขาเชื่อว่าซิมาถูกข่มขืน

ซิมาก่ออาชญากรรมอะไร? เธอกำลังติดคุกเพราะว่าเธอหนีออกมาจากการถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ประมาณครึ่งหนึ่งของหญิงต้องขังอยู่ตามเรือนจำในอัฟกานิสถานต้องติดคุกด้วย”ความผิดทางอาญา”ข้อหาเดียวกัน บางคนก็ติดคุกพร้อมกับลูกตัวน้อย และผู้ต้องขังหญิงที่เด็กที่สุดก็อายุไม่ถึงสิบสองปี หลังจากที่รับโทษจำคุกแล้ว ครอบครัวและชุมชนของพวกเธอเหล่านี้ก็มักปฏิเสธที่จะยอมรับพวกเธอกลับไปใช้ชีวิตปกติ

สิบปีนับตั้งแต่กลุ่มตะลิบันหนีออกจากคาบุล และแม้ว่ากฎหมายใหม่ๆ นโยบายใหม่และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทั้งปวงนำประโยชน์มาให้กับผู้หญิงอัฟกัน พวกเธอยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่หยั่งรากลึก เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกรายงานเรื่องประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้หญิงอัฟกันแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี โดยที่ร้อยละ 70 ถึง 80 ของการแต่งงานเหล่านี้เป็นการคลุมถุงชนบังคับใจฝ่ายหญิง การขายหรือส่งตัวเด็กหญิงให้ผู้อื่นเป็นสินไหมชดใช้เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ทั่วไป มีเพียงร้อยละ 12 เด็กหญิงอัฟกันวัย 15 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้หนังสือ ดังนั้นจึงแทบไม่เป็นที่ประหลาดใจเลยว่า เด็กหญิงเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและพฤติกรรมที่ชอบกระทำความรุนแรงอย่างกว้างขวาง อัฟกานิสถานได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี แต่ว่ารัฐบาลอัฟกันยังไม่ได้ส่งรายงานผลการดำเนินงานฉบับแรกทั้งที่ครบกำหนดนานแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการออกกฎหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง อย่างไรก็ดีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นสิ่งท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่าเหยื่อผู้ถูกกระทำจะไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งร้อยละ 99 เป็นผู้ชาย

แล้วพวกเธอจะทำอะไรได้หากถูกกระทำด้วยความรุนแรง? ผู้หญิงและเด็กหญิงที่สิ้นหวังมักฆ่าตัวตาย และหลายรายใช้วิธีเผาตัวเอง พวกที่มีความกล้าหาญพอที่จะหนีไปพึ่งจากวงศาคณาญาติก็มักลงเอยตรงที่ถูกส่งตัวกลับไปให้สามีหรือพ่อแม่ทารุณต่อไป ส่วนพวกที่พยายามหาที่พึ่งกับเพื่อนบ้านหรือบ้านเพื่อนจะโดนข้อหาอาญาว่าเจตนา”คบชู้” กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติบทลงโทษไว้ และการกระทำเช่นนี้ก็ไม่สอดคล้องกับชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลามเช่นกัน เพราะว่าชารีอะห์บัญญัติให้ต้องมีพยานและการพิสูจน์ การลงโทษผู้หญิงและเด็กหญิงด้วยข้อหาดังกล่าวมีต้นตอแค่มาจากคำสั่งของศาลฎีกาแห่งอัฟกานิสถาน ที่พักพิงที่ปลอดภัยเพียงแหล่งเดียวสำหรับเหยื่อแหงความรุนแรงคือสถานที่พักพิงที่องค์กรเอกชนเป็นผู้บริหาร แม้ว่าทางการอัฟกานิสถานขู่ว่าจะปิดที่พักเหล่านี้

ผมได้มีโอกาสไปเยือนที่พักพิงที่เก่าแก่ที่สุดในอัฟกานิสถานและได้พูดคุยกับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่นั่น เป็นเรื่องสะเทือนใจอย่างยิ่งที่ได้รับฟังคำขอจากพวกเธอเหล่านี้ให้มีที่พักพิงในลักษณะนี้ต่อไป เพราะว่าเป็นที่พึ่งแห่งเดียวของพวกเธอ “ถ้าหากว่าที่นี่ถูกปิด ฉันไม่มีทางเลือกนอกจากฆ่าตัวตาย” หญิงสาวคนหนึ่งพูดกับผม ผมได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับประธานาธิบดีคาร์ไซ ซึ่งท่านได้ให้คำมั่นว่า จะไม่มีการปิดสถานที่พักพิงเหล่านี้ลง และโดยส่วนตัวแล้วท่านอยากให้รัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สถานที่พักพิงที่องค์กรเอกชนบริหารอยู่เหล่านี้

สัปดาห์นี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติต่ออายุอาณัติของปฏิบัติการช่วยเหลือของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ทางคณะมนตรีฯ”ประนามอย่างรุนแรง”ที่ยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิง พร้อมกับเรียกร้องให้มีการประกันสิทธิของผู้หญิงและสนับสนุนให้มีสถานที่พักพิงสำหรับผู้หญิงและเด็ก และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหานี้ที่รากเหง้าซึ่งก็คือการที่ต้องเพิ่มพลังให้กับผู้หญิงอัฟกัน และต้องสร้างหลักประกันว่าสิทธิผู้หญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่แยกออกไม่ได้ของสันติภาพและความพยายามที่จะสร้างชาติและปรองดอง ถ้าหากว่าเด็กผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษา และหากผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิมีเสียงในการเมือง การบริหารประเทศและระบบยุติธรรม ประเพณีปฏิบัติที่เป็นอันตรายกับผู้หญิงจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป และสิทธิมนุษยชนก็จะไม่มีวันได้รับการคุ้มครอง ผู้หญิงต้องมีสิทธิมีเสียงและมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันว่า ความคืบหน้าแม้แต่น้อยนิดประการใดก็ตามที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องต่อรอง

เพื่อให้สันติภาพนั้นยั่งยืนและยุติธรรม ทั้งฝ่ายตะลีบันและผู้หญิงจะตั้งนั่งร่วมโต๊ะเจรจาด้วยกัน และต่างฝ่ายต่างต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของอัฟกานิสถาน

อิวาน ซิโมโนวิช ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=660&contentID=129435

No comments:

Post a Comment