ผู้สัมภาษณ์: แล้วอยากจะย้อนไปก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา สภาพสังคมสมัยนั้นเป็นยังไงมั่งครับ นอกจากบทบาทของพวกคณะปกครองที่เป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร
คุณศรีสวาท: รุ่นพ่อ จะมีความรับรู้ทางการเมืองค่อนข้างสูง มักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รัฐบาลสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองพ่อ เป็นเพื่อนกับคนสนิทของท่านปรีดี พนมยงค์ ชื่อ คุณแช่ม พรหมยงค์ นี่จะเป็นมุสลิม เป็นจุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น พ่อจึงมักเล่าเรื่องการเมืองให้ฟังเสมอๆ
ผู้สัมภาษณ์: พอจำได้ไหมครับ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
คุณศรีสวาท: อ๋อ ตอนนั้นพ่อยังไม่แก่ พ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อก็จะเล่าให้ฟังว่าคนนั้นอย่างงี้ คนนี้อย่างงั้น ตอนนั้นเราก็เล็กเกินไปกว่าจะมารับรู้ไอ้เรื่องการเมืองอะไรมากมาย แต่ว่าเราหารู้ไม่ว่านั่นคือสิ่งที่มันฝังรากอยู่ในตัวเรา เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืชคล้ายๆ อย่างนั้น เราไม่สามารถจะโหมใส่ความรู้เข้ามาในตัวเรา สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากการได้รับ ได้ฟัง ได้เห็น ได้มองมันเป็นการสั่งสมประสบการณ์
ผู้สัมภาษณ์: คือพ่อก็มีอิทธิพลในการบ่มเพาะความรักความยุติธรรม
คุณศรีสวาท: ใช่ แน่นอนค่ะ ตรงนี้ พ่อเป็นคนรักความยุติธรรม แล้วเราเองเราก็เป็นคนรักความยุติธรรม พอเราเห็นไอ้คนที่ตัวใหญ่กว่ารังแกคนเล็กกว่า นี่ตัวเบ้อเร่อแล้วนี่ตัวนิดเดียวอย่างงี้ เราจะมีความรู้สึก จะเกิดอะไรขึ้นมั้ย คนเล็กอาจจะแขวะก็ได้ เราก็ไม่รู้ แต่ในขณะที่สายตาเรามองเห็นเราจะพบว่า เฮ้ย นี่มันไม่ยุติธรรมนี่หว่า ไอ้นี่มันเล็กกว่า นี่มันใหญ่กว่า เราจะต้องเข้าไปช่วย ลักษณะเป็นอย่างงั้น แล้วก็เคยห้ามคนไม่ให้ฆ่ากัน อย่างเช่นว่าแถวบ้านเนี่ย คนวิ่งไล่ฆ่ากัน เราเห็นเลยมันเงื้อมีดจะแทง เรามองจากในบ้านเรา รั้วเราก่ออิฐแล้วมันมีอิฐบล็อกอ่ะ มอง... “เอ้ย นั่นมันจะฆ่ากันนี่หว่า” แล้วประตูบ้านก็เป็นเหล็กโปร่งๆ เราก็ตะโกนออกไป มันก็ชะงัก มันก็วิ่งหนีไป ซึ่งสามีบอก “เอ้ย เดี๋ยวจะตายแทน” อะไรอย่างเนี้ย หรือว่าตั้งแต่สมัยเด็กๆ เนี่ย ที่เราเรียนหนังสืออยู่เนี่ยนะคะ เราเคยเห็นไอ้คนเล็กมันถูกรังแก เราก็ต้องวิ่งเข้าไปช่วย และแม้แต่ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเผื่อเราเห็นความไม่เป็นธรรมนี้เกิดขึ้นนะ ถ้าเผื่อยุติธรรมนะ คุณน้ำหนักเท่ากันนะ แล้วคุณมีอาวุธเหมือนกัน เอ้า คุณล่อกันเข้าไปเลย แต่ถ้าเผื่ออีกฝ่ายนึงเสียเปรียบเนี่ยเราก็จะทนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันอาจจะอย่างงี้ก็ได้ ที่พ่อได้ปลูกฝังตรงนี้เอาไว้ มันทำให้เรารักความยุติธรรม
ผู้สัมภาษณ์: แล้วมีสิ่งที่พ่อเล่าให้ฟัง มีอะไรบ้างที่ประทับใจที่สุดตอนเด็กที่ได้รับการเล่าจากพ่อ
คุณศรีสวาท: ถามว่าประทับใจ คือพ่อจะสอนเสมอว่า “เราเนี่ยอย่าไปรังแกใครนะ แล้วถ้าหากว่าใครรังแกเรา เราต้องอดทนให้ถึงที่สุดนะ ถ้าเราทนไม่ได้ เราต้องเอามันให้ตาย” อย่างงี้เลยนะ คือพ่อเป็นมุสลิมไง แต่ว่าเชื้อสายเค้าไม่ใช่ทางมลายู เป็นเชื้อสายทางอินเดีย คือพวกมุสลิมที่อยู่ในเมืองไทย มาหลายสายด้วยกัน สายมลายูนะ ก็คือสายมาเลเซียในปัจจุบันสายนี้
ผู้สัมภาษณ์: อยู่ในภาคใต้
คุณศรีสวาท: ภาคใต้ ... พวกอินโดนีเซีย แบบคุณอะไรที่เขียนหนังสือคู่สร้างคู่สมคุณ ดำรง พุฒตาล พวกนี้จะสายอินโดนีเซีย อีกพวกนึงมาจากอินเดีย สมัยก่อนอินเดียเป็นประเทศเดียว แล้วตอนหลังมันก็แบ่งเป็นปากีสถาน เป็นบังคลาเทศนะคะ อันนี้สายของนี่ มาทางอินเดีย แล้วก็พวกมาจากทางตะวันออกกลางก็พวกสายอิหร่าน คือพวกมุสลิมเนี่ยจะถูกสั่งสอน หนึ่งคือให้มีความอดทน คือนี่เป็นลูกผู้หญิงก็จริงนะคะ แต่ว่าจะใกล้ชิดกับพ่อมาก มีเวลาที่จะ สังเกตดูพ่อเนี่ย คือพ่อเปิดร้านขายกาแฟแถวศรีย่าน ก็จะขายบุหรี่อะไร ไอ้พวกทหารแถวเกียกกาย มันก็มาเบ่งกิน หรือไม่งั้นก็มีพวกตำรวจมาเบ่งกิน แต่พ่อคนเดียวนะเล่นงานมันซะกระจุย คือเนื่องจากว่าเค้าเป็นคนแข็งแรงนะ เค้าก็จะเล่นงานพวกนี้กระจุยไป คืออดทนไง คือมันถูกรังแกไง นี่ก็เช่นเดียวกัน ก็ติดนิสัยอย่างนี้มาเหมือนกันนะ แต่ถามว่าถึงกับเล่นงานใครตายหรือยัง ยังหรอก แต่เราจะใช้กฎหมายไง เราไม่เล่นอ่ะที่จะให้เราไปยืนเจ๊าะแจ๊ะอะไรอย่างงี้นะ แต่ว่าเราจะอดทน แล้วเราจะไม่เอารัดเอาเปรียบใคร มีอะไรพอจะช่วยเหลือคนได้ เหมือนกับพ่อ คือช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ ช่วยเหลือญาติได้จะทำทันที เป็นอย่างงั้น นี่คือจุดที่สำคัญ แต่ว่าใครอย่ามา เค้าเรียกอะไร อย่ามากดดันเรามากจนกระทั่งเราทนไม่ไหว นี่เป็นภาษาปัจจุบันนะ สมัยโบราณเค้าเรียกใครมารังแกเรามากจนทนไม่ไหว เรามีสิทธิ์ที่จะต่อสู้และป้องกันชีวิตเรา อย่างสมมุติ คุณเห็นงูตัวนึงเข้ามา ถ้าเกิดเป็นไทยพุทธเค้าก็ “ไปๆ ที่อื่นไป ไปตามทางทางใครทางมันนะ” อะไรอย่างงี้ใช่มั้ย แต่คนอิสลามไม่ได้ มันจ้องเข้ามาปั๊บ ระหว่างชีวิตมันกับชีวิตเรา เรามีสิทธิ์ป้องกันชีวิตเรา นี่เป็นคำสอนในอัลกุรอานเลยนะ จะต้องเล่นงานมันทันที ไม่ใช่แบบพุทธ แต่ตอนนี้ตัวเองเปลี่ยนศาสนาแล้วนะ เปลี่ยนมานับถือพุทธ
ผู้สัมภาษณ์: เปลี่ยนมานานรึยังครับ
คุณศรีสวาท: เปลี่ยนมาหลายปี แล้วศึกษาศาสนาพุทธ แล้วเราพบว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งมาก แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดจากการกระทำของเรา กรรมในชาติปัจจุบันหรือในอดีตชาติ ซึ่งเราได้กระทำถ้าเผื่อเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เราก็ไม่สามารถย้อนอดีตของเราได้ แต่ถ้าเผื่อเราสามารถปฏิบัติธรรมได้ เราก็สามารถย้อนอดีตของเราได้ว่าเราทำกรรมอะไรมา เราถึงมาเจออะไรอย่างนี้ๆ ทีนี้อย่างศาสนาคริสต์ หรืออิสลามนี่ หรือยิวนี่ เค้ามีรากเหง้ามาจากศาสนาเดียวกัน แล้วมาแตกต่างกันที่ศาสดาองค์สุดท้าย แล้วเค้ามีอีกอย่างนึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระเจ้า จะดีจะชั่วอะไรมันขึ้นอยู่กับพระเจ้าซึ่งบางทีเราก็ต่อล้อต่อเถียงกับโต๊ะอิหม่ามนะ พวกโต๊ะครูที่มาให้ความรู้ จนกระทั่ง พวกมุสลิมที่ทำงานเค้าก็ระอาเรา เรามันชอบถกเถียง ชอบเถียงชอบอะไร เราก็ “เอ๊ะ เรามันโง่หรือเปล่า หรือว่าเราอยากจะแสดงวาทะอะไรรึเปล่า” ถามตัวเองนะคะ แล้วผู้หญิงมุสลิมเนี่ยจะถูกสอนให้เชื่อฟังสามี แม้แต่พี่คนนึงที่เค้าเป็นมุสลิมแล้วก็จบกฎหมายที่ธรรมศาสตร์เป็นหัวหน้ากองกฎหมายด้วยนะ แต่พอมีผู้รู้ทางศาสนามาบรรยายให้ฟัง พอถึงสิทธิสตรี เค้าจะนั่งเงียบเลย บอก “พี่ พี่ถามสิ” เขาจะไม่กล้าตอบ
ที่มา(คัดลอกมาเพียงบางส่วน)
http://www.14tula.com/document/interview_srisawat.html
No comments:
Post a Comment