ก็เหมือนชาวต่างประเทศทั่วไป ที่เมื่อแรกมาเที่ยวเมืองไทยเพราะได้ยินกิตติศัพท์เมืองชายทะเลที่มีหาดทรายขาว ทะเลสวย เต็มไปด้วยแสงแดดให้อาบไล้ผิวกายจนเป็นสีทองได้หนำใจ
แล้วยังเป็นเมืองที่งดงามมลังเมลืองด้วยวัดวา ผู้คนก็เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
สเตฟาโน แคตตา หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ชาวอิตาเลียน เปิดใจว่า เดินทางเข้ามาเมืองไทย เมื่อ 13 ปีก่อน เพราะต้องการจะสัมผัสกับความสวยงามและแสงสีเหมือนกับนักท่องเที่ยวคนอื่น เขาเข้ามาท่องเที่ยวครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งรู้สึกหลงใหลและผูกพันกับเกาะภูเก็ต สถานที่ที่เขาเข้าใจว่าคือ ความเป็นเมืองไทย
เขาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอีกหลายหนเมื่อมีโอกาส ตระเวนไปเหนือบ้างอีสานบ้าง กระทั่งวันหนึ่งชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป
การได้สัมผัสกับศาสนาพุทธทำให้เขารู้จัก "การให้"
เมื่อทราบข่าวการเกิดสึนามิกับจังหวัดภูเก็ต เมืองที่เขาคุ้นเคยราวกับเป็นบ้านหลังที่ 2 ข่าวของความทุกข์ยากแสนสาหัสของผู้คนในจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ทำให้เขาร้อนใจ จับเครื่องบินเดินทางข้ามทวีปเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่าที่จะช่วยได้
"หลังเกิดสึนามิ ผมไปภูเก็ต 2 ครั้ง และเมื่อตอนหน้าร้อนผมไปถ่ายวิดีโอว่าเกิดอะไรขึ้น ผมไปที่เดิม ที่พักของคนอพยพ ผมเรียกตุ๊กๆ ไปบ้านเขาหลัก บ้านน้ำเค็ม ผมเห็นผู้คนทุกข์ยากจากการสูญเสียมากมาย ผมบริจาคเงิน 140 บาท ให้กับชาวบ้าน แม้จะไม่มาก แต่กับบางคนมันมาก ก็เหมือนกับตอนที่ผมขึ้นไปดอยอินทนนท์ผมก็ช่วยเหลือเด็กๆ และยังอุปถัมภ์เด็กผู้หญิงอายุ 4 ขวบคนหนึ่ง"
สเตฟาโนเล่าว่า ได้เก็บภาพสถานที่ทุกแห่ง เพื่อนำไปตัดต่อออกอากาศในเคเบิลทีวีที่เขารับผิดชอบอยู่
"คนส่วนมากกลัวเรื่องโรค ความสะอาดของน้ำ ของอาหาร เพราะช่วงนั้นมีการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ในสถานที่เกิดเหตุหลายๆ แห่ง ไม่เพียงในประเทศไทย รวมทั้งอินโดนีเซีย อินเดีย บังกลาเทศ ฯลฯ ข่าวส่วนใหญ่ที่ออกอากาศ รวมทั้งตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวมักจะพูดถึงสิ่งที่ไม่ดี เรื่องแผ่นดินไหว ไข้หวัดนก ซาร์ส ฯลฯ เตือนว่าอย่าเข้าไป ผมแนะนำให้กลับไปเที่ยวที่นั่น โดยใช้ภาพจากกล้องถ่ายรูปเป็นสิ่งแสดงให้ทุกคนเห็น
มีทีวีมาสัมภาษณ์ผม 2 ครั้ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางใต้ ผมบอกว่าคนที่นั่นต้องการความช่วยเหลือทางด้านเงิน อาหาร เพราะผมได้เห็นพื้นที่จริง ผมรักเมืองไทยมาก ผมพูดถึงเมืองไทยให้ทุกคนกลับไปเที่ยว เปิดใจว่าคนที่นั่นไม่มีอะไรหรอก ทำไมคุณคิดถึงแต่คนตาย ทำไมไม่คิดถึงคนที่ยังไม่ตายบ้าง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมกลับไปที่บ้านและได้รับเงินบริจาคสำหรับช่วยเมืองไ ทย"
สเตฟาโนกลับมาอีกครั้งพร้อมกับเงินบริจาค 3,000 ยูโร หรือราว 120,000 บาท เขาบอกว่า เพราะทุกคนไว้วางใจเขา
ก่อนหน้านี้แม้สถานีที่ออกอากาศผ่านทางเคเบิลทีวีของเขาจะเป็นสถานีข่าว แต่เมื่อมีโอกาสพูดถึงเมืองไทย เขาจะเล่าให้ฟังถึงอัธยาศัยที่น่ารักของคนไทย บ้านเมืองที่สวยงามน่าอยู่
"เป็นธรรมดาที่สถานที่ทุกแห่งจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ในเมืองไทยแม้จะมีคนจน แต่พวกเขาก็ทำงาน ผมพยายามให้ข้อมูลเหล่านี้จากสิ่งที่ผมได้รับรู้
ผมเคยไปเกาะพีพี ผมเห็นคนแก่ แม้จะไม่มีบ้านแล้ว แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะอยู่ตรงที่เป็นบ้านของเขา แม้จะมีแต่โต๊ะพังๆ ตัวหนึ่ง เขาเป็นคนจน ทั้งเนื้อทั้งตัวของเขามีกล้วยอยู่ 5 ผล เขาก็ยังอุตส่าห์แบ่งให้ผม 2 ผล
ผมว่า เมื่อคุณให้อะไรใคร คุณต้องไม่หวังผลตอบแทน!
ความประทับใจของผมคือ การได้ช่วยเหลือให้เด็กๆ ให้ได้ไปโรงเรียน เพราะยิ่งเขาได้เรียนเขาจะยิ่งรู้จักเคารพตัวเอง พวกเขาสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ ทำสิ่งที่ดี
ผมไม่อยากเป็นซานตาคลอสที่บริจาคเงินอย่างเดียว ที่ยุโรปทุกคนสามารถอุปถัมภ์เด็กได้ เพียงแค่คลิกเข้าไปในเว็บไซต์ คุณสามารถเห็นรูปเด็กๆ และสามารถเลือกได้ว่าจะอุปถัมภ์เด็กคนไหน นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมไปที่ภูเก็ต เพราะผมไม่อยากจะบริจาคให้กับความหลอกลวง
ผมมาเมืองไทยปีละ 2-3 ครั้ง ทุกเดือนเมษายนผมจะขึ้นดอยอินทนนท์ เพื่อไปจัดเลี้ยงวันเกิดให้กับเด็กที่ผมอุปถัมภ์ ได้บริจาคช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆ ในพื้นที่"
สเตฟาโนเล่าว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตั้งแต่ได้รู้จักหลวงพ่อคูณ
"ผมไม่อายที่จะบอกว่าผมไปหาหลวงพ่อคูณ ที่วัดบ้านไร่ เหมือนกับท่านได้เปิดหน้าต่างอีกบานให้ผมได้รู้จักกับอีกวัฒนธรรม ผมได้เห็นผู้คนที่นอนบนเสื่อ มีชีวิตแบบสมถะ
ผมเคยพบหลวงพ่อคูณมาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อก่อนก็ไม่รู้จักหลวงพ่อคูณ แต่ได้ยินชื่อเสียงของท่านจากหลายคน จึงให้คนพาไปพบท่าน ครั้งแรกที่เข้าไปที่วัดบ้านไร่ ท่านกำลังฉันอยู่พอดี แต่ก็ยอมให้ผมเข้าพบ
พระที่ฉันร่วมอยู่ด้วยถามว่า ผมมาพบท่านมีอะไรหรือเปล่า ผมจึงบอกว่าลุงของผมป่วยมาก หลวงพ่อคูณให้ผมเขียนชื่อ วัน เดือน ปีเกิด ทั้งของผมและของลุงให้ท่าน ท่านดูแล้วท่านก็เอากระดาษแผ่นนั้นไปไว้ใต้เบาะที่ท่านรองนั่งอยู่ และบอกว่าลุงผมมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน หลังจากนั้นอีก 3 วันก็มีคนโทร.มาจากอิตาลีบอกว่าลุงของผมเสียชีวิตแล้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้สึกศรัทธาท่าน"
หลังจากนั้นสเตฟาโนก็ได้เข้านมัสการหลวงพ่อคูณอีก 2 ครั้ง ท่านยังตั้งชื่อภาษาไทยให้เขาว่า "นิติพงษ์"
สเตฟาโนเล่าว่า เขาเป็นคริสเตียนโดยกำเนิด แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมานับถือพุทธ
"คนรอบข้างเข้าใจผมนะ เพราะถึงผมเป็นพุทธ แต่ผมก็ไม่ได้เหยียดคริสต์ เมื่อก่อนผมอาจจะฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ตอนนี้ผมไม่ทำแล้ว ผมพยายามทำตัวเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี นับถือในสิ่งที่พวกคุณนับถือ เรียนรู้และพยายามที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าศึกษาดีๆ แล้วทั้งคำสอนของพุทธและคริสต์มีความคล้ายคลึงกัน
ผมแค่ปฏิบัติตามอย่างพุทธศาสนิกชนที่ดี เช่น พูดสิ่งดี ทำสิ่งดี บางคนพูดดี แต่ปฏิบัติไม่ดี เวลาที่ให้อะไรใครก็หวังสิ่งตอบแทน ผมมั่นใจว่าผมทำสิ่งดี ไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน ผมให้เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาไม่มีเสื้อ ไม่มีรองเท้า
ผมมาเมืองไทย ผมเห็นคนนอนตามถนน คนขายตัว ผมไม่ได้ปิดตาทำเป็นไม่เห็น บางคนกลัวที่จะถูกล้วงกระเป๋า ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องอย่างนี้มีเกิดขึ้นในทุกที่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แม้แต่ที่อิตาลีบ้านผม ขณะที่เราคุยกันก็ถูกล้วงกระเป๋าไปแล้ว
ผมอยากจะบอกว่า ผมพยายามเปิดใจ ทำความเข้าใจ ผมบริจาคในที่ที่ควร
คนส่วนใหญ่เมื่อต้องการความช่วยเหลือจะสวดมนต์ แต่ผมไม่ แม้ผมจะมีความศรัทธาต่อพระพุทธ แต่ไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน"
ทุกวันนี้เมื่อมีโอกาสมาเมืองไทยสเตฟาโนก็ยังคงนำเงินมาบริจาคช่วยเหลื อเด็กๆ โดยเงินดังกล่าวได้มาจากทิปที่ลูกค้าให้
"ผมเป็นผู้จัดการโรงแรมเฮอมิเทจ ที่เกาะเอลบ้า เมืองทอสกานา ประเทศอิตาลี เงินทุกเหรียญที่ได้ทิปจากลูกค้าผมจะเก็บไว้สำหรับนำมาช่วยเหลือเด็กๆ ทุกครั้งที่ได้กลับมาเมืองไทย
มีอยู่ครั้งหนึ่งแม่ของผมบอกว่า ทำงานมาเหนื่อยแล้ว เวลามาเที่ยวเมืองไทย อยากให้ผมจองที่นั่งเฟิร์สต์คลาสให้ ผมบอกว่าเรารับเงินบริจาคจากคนอื่นมามากมาย ถ้าเราทำตัวสบาย คนอื่นจะเข้าใจผิดได้ว่าเราเอาเงินนั้นมาใช้ ให้แม่อดทนนั่งชั้นอีโคโนมีคลาสเถอะ ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก"
แล้วถ้าไม่ได้รับเงินทิปล่ะ สเตฟาโนตอบอย่างมั่นใจว่า "ผมก็จะเอาไดอารี่ของผมให้เขาดู ไดอารี่ที่ผมเก็บรูปที่ผมถ่ายที่เมืองไทยให้เขาดู ผมก็จะได้เงินบริจาค อย่างคราวนี้ผมก็รวบรวมเงินบริจาคมาได้อีก 1,500 ยูโร"
ฟังแล้วรู้สึกขอบคุณแทนเด็กๆ และคนไทยอีกหลายๆ คน ถ้ามีคนคิดอย่างนี้มากๆ โลกเราคงน่าอยู่ขึ้นอีกหลายกอง
กับอนาคตในวันข้างหน้า สเตฟาโนว่า "เมื่อเกษียณแล้วอยากจะอยู่เมืองไทย ทำธุรกิจรีสอร์ตสักแห่งที่นี่" ...อย่างที่คาดไว้เทียว
ที่มา : นสพ.มติชน 17 พ.ย.48
No comments:
Post a Comment