Friday, December 2, 2011

จุดจบชีวิตของมุสลิมก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน

หะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ(เสื้อแดง)
วันที่ 2 ธันวาคม 2554 15:40

ศาลจำคุกตลอดชีวิต'หะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ'

วันนี้(2ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน หมายเลขดำที่ ด.2722/2541 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หรือดาโอ๊ะ มะเซ็ง หรือดาโอะ มะเซ็ง อดีตหัวหน้าขบวนการพูโล อายุ 54 ปี จำเลยที่ 1 นายหะยี บือโด เบตง หรือนายบาบอแม เบตง หรือนายหะยี อาเซ็ม ประธานขบวนการพูโล อายุ 74 ปี จำเลยที่ 2 , นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ หรือนายหะยี สมาชิกขบวนการพูโล อายุ 63 ปี จำเลยที่ 3 , นายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือนายสะมะแอ สะอะ หรือหะยี อิสมาแอล กัดดาฟี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล อายุ 60 ปี จำเลยที่ 4 และนายยามี มะเซะ สมาชิกขบวนการพูโล อายุ 61 ปี จำเลยที่ 5 ในความผิดร่วมกันเป็นกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเป็นซ่องโจร

โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 เม.ย.41 ระบุความผิดสรุปว่า ระหว่างปี 2511-2541 มีกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม สมคบกันก่อตั้งองค์กรทางการเมืองชื่อ องค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล เพื่อแบ่งแยกดินแดน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลา บางส่วน สถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย ทั้งชักชวนให้สมาชิกนำญาติมิตรเข้าร่วมขบวนการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ฝึกวิชาทหาร และการสู้รบแบบกองโจร ก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ โรงแรม เผาอาคารสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งใช้อาวุธยิงข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนมีการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เรียกค่าคุ้มครองจากพ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าของสวนยางพารา และบริษัทรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ ทำให้ขบวนการพูโล มีเงินทุนซื้ออาวุธ เพื่อก่อความวุ่นวายดังกล่าว ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-4 ให้การรับสารภาพ แต่กลับมาให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาของศาล

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ต.ค.45 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1,2 และ 4 แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1,2 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 และ 5 ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าร่วมกระทำผิดให้ยกฟ้อง

ต่อมาวันที่ 15 พ.ย.48 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์แก้โทษที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เป็นให้ประหารชีวิต แต่คำให้การจำเลยที่ 3 มีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 อัยการไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ขณะที่จำเลยที่ 1,2,3,4 ยื่นฎีกา ยื่นฎีกาต่อ

ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์มีพยาน ซึ่งเป็นน้องชายของพี่สะใภ้ของจำเลยที่ 2 รวมทั้งพยานอีกหลายปาก ซึ่งร่วมกันเป็นสมาชิกของขบวนการเบิกความว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มจำเลยได้ถูกชักชวนให้ร่วมเป็นสมาชิก และเคยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มสมาชิกเคยเห็นกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 20 คนร่วมอยู่ด้วย โดยระบุว่าหากเป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษในประเทศมาเลเซีย และได้รางวัลตอบแทนเมื่อจำเลยที่ 1 และ 2 ได้สั่งให้ทำการก่อความวุ่นวาย ซึ่งพวกจำเลยจะทำจดหมายข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองและแบ่งแยกดินแดนไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่พยานโจทก์ยังระบุว่าเมื่อร่วมเป็นสมาชิกแล้วระยะหนึ่ง

ต่อมามีคนในขบวนการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม จึงรู้สึกว่าขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้สมาชิกบางส่วนเข้ามอบตัวผ่านทางพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำให้การรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เริ่มขบวนการมาตั้งแต่ปี 2529 และได้เป็นหัวหน้าขบวนการที่ติดอาวุธอยู่ในป่า จ.ยะลา ซึ่งภายหลังได้มีการแต่งตั้งสมาชิกคนอื่นให้เป็นหัวหน้าควบคุมแทน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ และภายหลังจากที่กลุ่มขบวนการพูโลไม่สามารถต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ได้ จึงเดินทางไปกลับมาเลเซีย ซึ่งมีพยานโจทก์เดินทางไปรับจ้างกรีดยางที่มาเลเซียได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นและการถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก

แม้ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์บางปากจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อรับฟังร่วมกับพยานแวดล้อมต่างๆ มีรายละเอียดเชื่อมโยงสอดคล้อง จึงสามารถรับฟังได้ ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งร่วมขบวนการก็ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จำเลยที่ 1-4 จะถูกจับกุมในคดีนี้ เป็นเวลานานหลายปี พยานโจทก์จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัย

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกา อ้างว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนไม่ได้ทำด้วยความสมัครใจ แต่ถูกกดดัน ขู่เข็ญจากเจ้าพนักงาน เห็นว่า ในชั้นสอบสวนได้มีการบันทึกวีดีทัศน์จำเลยที่ 1 ขณะแสดงวิธีการประกอบระเบิดที่ไม่แสดงท่าทีถูกกดดัน ขณะที่คำให้การของพยานนำมาประกอบรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาที่ประเทศซีเรียและได้รับการสอนวิธีการทำระเบิด ประกอบกับการออกคำแถลงของพวกจำเลยภายหลังถูกจับกุมมีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และรองอธิบดีกรมตำรวจ รวมทั้งพนักงานสอบสวนร่วมอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะกลั่นแกล้ง ขณะที่การสอบสวนดำเนินการเป็นคณะ จึงยากที่จะปรุงแต่งรายละเอียด ฎีกาของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกาขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบา เห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 ได้ดำเนินการเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ วางระเบิดสถานที่ต่างๆ และยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้ว่าพวกจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา จึงเห็นได้ว่าพวกจำเลยไม่สำนึกในการกะทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษนั้นเหมาะสมแล้ว พิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ เป็นการอ่านให้นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ จำเลยที่ 3 ฟัง ส่วนนายหะยี ดาโอ๊ะท่าน้ำ จำเลยที่ 1 นายหะยี บือโด เบตง จำเลยที่ 2 และนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ จำเลยที่ 4 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จ.สงขลา ได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสงขลาแล้ว

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20111202/422689/ศาลจำคุกตลอดชีวิตหะยี-ดาโอ๊ะ-ท่าน้ำ.html

No comments:

Post a Comment