ประวัติ
หลวงปู่โง่น โสรโย เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ณ แพกลางแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร บิดาเป็นหัวหน้ากองเกวียน รับจ้างลากซุงจากป่าสู่ท่าน้ำและล่องซุงระหว่างเชียงใหม่มายังกรุงเทพฯ เมื่ออายุไม่ถึง ๑๐ ปี บิดามารดาเสียชีวิต ท่านจึงเป็นเด็กกำพร้า แต่ได้รับการอุปการะจากบิดาบุญธรรมชาวฝรั่งเศสที่มีตำแหน่งเป็นเลขานุการของข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำภาคพื้นเอเซีย ท่านได้ติดตามบิดาเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เกือบรอบโลก เช่น ประเทศเวียดนาม สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งเป็นผลดีในการที่ ได้ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านภาษา ท่านสามารถพูดได้ถึง ๗ ภาษา
ในด้านการศึกษา ท่านจบปริญญาเอกกฎหมายระหว่างประเทศและเรียนแพทย์ที่ประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ยังสนใจปรัชญาเกี่ยวกับศาสนาเกือบทุกศาสนา โดยเฉพาะคริสต์ศาสนาได้ศึกษาจนแตกฉานและได้สอบเป็นบาทหลวง ต่อมาเมื่อกลับมายังประเทศไทยได้ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนา จนเข้าใจลึกซึ้งในเหตุผลมากกว่าศาสนาที่ท่านเคยศึกษามา จึงอุปสมบทและสนใจศึกษาด้านวิปัสสนาและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้ออกธุดงค์ไปหลายพื้นที่จนมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทเขารวก
ผลงานและเกียรติคุณที่ได้รับ
๑. การสร้างพระพุทธรูป "พระพุทธวิโมกข์" (วิโมกข์แปลว่า ความหลุดพ้น นิพพาน การขาดจากการพัวพันแห่งโลก) เพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยงานราชการ โรงเรียน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาทั่วประเทศ เพื่อเชิญไปประดิษฐานไว้เคารพกราบไหว้ โดยเฉพาะตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวนพระพุทธรูป "พระพุทธวิโมกข์" ที่ท่านได้สร้างขึ้นมีขนาดหน้าตักตั้งแต่ ๙ - ๒๙ นิ้ว จำนวน รวม ๗๐,๐๐๐ องค์ ต้นทุนค่าสร้างองค์ละ ๓,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ท่านบริจาคให้ท้องถิ่นต่าง ๆ ถึง ๒๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และยังมีพระพุทธรูปทองเหลืองอีก ๑๐๐ องค์ มูลค่านับแสนบาท
๒. การเลี้ยงดูสัตว์ป่าประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นการสงเคราะห์และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เช่น การเลี้ยงสัตว์ไว้ในบริเวณวัด และบริจาคสัตว์ป่าไว้ในสวนสัตว์บริเวณอุทยานเมืองเก่าพิจิตร สัตว์ป่าที่ท่านเลี้ยงไว้ ได้แก่ กา นกยูง เนื้อทราย กวาง งูเหลือม เต่า เป็นต้น
๓. เป็นพระที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา ได้นั่งวิปัสสนากรรมฐานชี้ตำแหน่งของหลักเมืองโบราณของเมืองพิจิตร ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ อยู่ในบริเวณอุทยานเมืองเก่า และได้นำไม้หลักประหารโจรที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาทำเป็นท้าววิรุฬห์ พญาครุฑ พญานาค พระอินทร์ ประดิษฐานไว้ที่ศาลหลักเมืองหลังใหม่ นอกจากนี้ยังนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ชี้ที่ตั้ง เสาหลักเมืองตะพานหิน บริเวณใจกลางเมืองใกล้ร้านศรีเมืองทอง นำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลหลักเมืองตะพานหิน บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอตะพานหิน ปัจจุบัน
๔. การแจกผ้าห่มเครื่องกันหนาวแก่ผู้ยากจน ในท้องถิ่นที่ห่างไกลตามป่าเขา ประชาชน ที่เป็นชาวเขาตลอดทั้งประชาชนทั่วไปที่ยากจน ท่านจะเดินทางไปแจกผ้าห่มกันหนาว เสื้อผ้าแก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารเหล่านั้น ปีละ ๔ ครั้งเป็นอย่างน้อย
๕. การอุปการะเด็กนักเรียน เด็กกำพร้าที่มีฐานะยากจน ท่านจะส่งให้ได้รับการศึกษาตามความสามารถของเด็กนักเรียน โดยมีรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับบริจาคจากประชาชนที่มีจิตศรัทธา จนเด็กที่ท่านอุปการะ จบการศึกษาทั้งในและต่างประเทศหลายคน ทั้งนี้เพราะท่านเคยมีสภาพยากจนและกำพร้ามาก่อน
๖. การช่วยเหลือโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะโรงเรียน ท่านมีการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เรียนดีและมีฐานะยากจน ท่านถือหลักว่า "สร้างคนดี ดีกว่าสร้างวัตถุ" เงินบริจาคที่ท่านได้รับและที่ท่านสร้างพระพุทธรูป ล้วนแต่ มีผู้จิตศรัทธา ลูกศิษย์ ผู้เป็นที่เคารพนับถือ บริจาคให้ท่านเพราะเห็นว่า ท่านได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
๗. เป็นพระภิกษุที่เคร่งในพระธรรมวินัย และวิปัสสนา เป็นที่เคารพสักการะแก่ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=837
No comments:
Post a Comment