Wednesday, February 1, 2012

'ชาวเมือง'ใน'จีน'หวนกลับมาศรัทธา'ศาสนาพุทธ'

โดย มิตช์ ม็อกซ์ลีย์ 11 ธันวาคม 2553 20:47 น.

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s urbanites rediscover Buddhism
By Mitch Moxley
01/12/2010

พุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนตั้งแต่เมื่อ 2000 ปีก่อน และเจริญรุ่งเรืองยิ่งในหลายยุคหลายสมัย ทว่าต้องมาเสื่อมทรุดอยู่ในภาวะหยุดนิ่งงันอย่างกะทันหันในยุคของประธานเหมาเจ๋อตง อย่างไรก็ตาม แรงบีบคั้นกดดันของสังคมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งในปัจจุบัน กำลังเป็นปัจจัยใหญ่ที่นำพาชาวจีนจำนวนนับล้านๆ ให้หวนกลับมาเสาะแสวงหาความอิ่มเอมทางจิตใจจากพุทธศาสนา โดยที่ความสนอกสนใจที่บังเกิดขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งนี้ มีความผูกพันเป็นพิเศษกับมนตร์เสน่ห์ของทิเบต

ปักกิ่ง – ฉวนเจิ้นหยวน (Quan Zhenyuan) ค้นพบพุทธศาสนาด้วยความบังเอิญ ภายหลังที่เจ้าของร้านอาหารมังสวิรัติแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของจีนแห่งนี้ มอบหนังสือให้เธอเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาว่าด้วยศาสนานี้ เธออ่านแล้วก็ติดอกติดใจเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ทุกวันนี้ ฉวนจึงกลายเป็นคนหนึ่งในหมู่ประชากรที่พำนักอาศัยตามชุมชนเมืองของประเทศจีนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังหันมาหาพุทธศาสนาเพื่อเติมเต็มความขาดตกบกพร่องทางจิตใจ

“เมื่อก่อนฉันเคยเชื่อว่าพุทธศาสนาเป็นเป็นคำสอนประเภทไสยศาสตร์ชนิดหนึ่ง แต่ฉันเปลี่ยนความคิดไปอย่างสิ้นเชิงเลยหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง รู้จักพุทธศาสนา (Recognizing Buddhism)” ฉวนเล่า เวลานี้เธอมีอายุ 32 ปี และทำงานในตำแหน่งระดับผู้บริหารของบริษัททัวร์แห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เธอบอกว่าพุทธศาสนาสอนเธอให้รู้จักแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น และทำงานกับพวกลูกจ้างพนักงานและลูกค้าได้อย่างราบรื่นมากขึ้น “พุทธศาสนาทำให้ฉันมีความสงบสันติในจิตใจ”

จีนซึ่งประกาศตนอย่างเป็นทางการว่าเป็นประเทศที่ไม่มีศาสนา เวลานี้กำลังประสบกับการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งของศาสนาพุทธ

เวลาผ่านไป 3 ทศวรรษภายหลังที่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประตูประเทศ คนจีนจำนวนมากกำลังเกิดความรู้สึกว่างเปล่ายากไร้ในทางจิตใจ พวกผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยกันอย่างนี้ ชีวิตที่มีแต่ความเครียดและการมุ่งเน้นแต่เรื่องการงานอาชีพตลอดจนผลประโยชน์ทางวัตถุมากจนเกินไป ทำให้พลเมืองแดนมังกรจำนวนมากเริ่มหันมามองหาคำตอบต่างๆ จากศาสนา และพุทธศาสนาก็เป็นลัทธิความเชื่อที่ดำรงอยู่ในประเทศจีนมายาวนานถึง 2,000 ปีแล้ว

ผลการสำรวจเมื่อปี 2007 ของศูนย์วิจัยเพื่อวัฒนธรรมทางศาสนา (Research Center for Religious Culture) แห่งมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูจีนตะวันออก (East China Normal University) พบว่า ในจำนวนผู้คนที่ถูกสอบถาม 4,500 คน ซึ่งมาจากมณฑลและเขตปกครองตนเองต่างๆ 31 แห่งทั่วประเทศจีน มี 33% ทีเดียวที่ระบุว่าศรัทธาในพุทธศาสนา

หลิวจงหยีว์ (Liu Zhongyu) หัวหน้าคณะนักวิจัยในคราวนั้น บออกับสื่อ “ฟีนิกซ์ นิวส์ มีเดีย” (Phoenix News Media) ว่า “พุทธศาสนาเป็นความเชื่อสำคัญในหมู่ปัญญาชนและคนรุ่นหนุ่มสาว” ในประเทศจีน เขาบอกว่าคนจีนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนานั้น น่าจะมีมากกว่า 300 ล้านคนทีเดียว ขณะที่ตามตัวเลขเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้นของกรมกิจการศาสนา (State Bureau of Religious Affairs) ยังให้ไว้ที่ 100 ล้านคนเท่านั้น

หลิวคิดว่า การที่คนจีนกำลังสนอกสนใจพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุมาจากภาวะสังคมไร้เสถียรภาพ และแรงกดดันบีบคั้นอันสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจการตลาดที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งในแดนมังกร

“หนังสือปกน้ำเงินว่าด้วยศาสนาในประเทศจีน” (Blue Book on China's Religions) ซึ่งจัดทำโดยบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ก็กล่าวว่า พุทธศาสนาเข้าสู่ “ยุคทอง” ในช่วงเวลา 30 ปีแห่งการปฏิรูปประเทศของจีน โดยในระยะเวลาดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาได้มีการก่อตั้งองค์กรในระดับทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ, มีการจัดค่ายฤดูร้อน, และมีการจัดกิจกรรมให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป

การวิจัยที่จัดทำโดย ศูนย์เพื่อศาสนาและสังคมจีน (Center on Religion and Chinese Society) แห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว (Purdue University) ในสหรัฐอเมริกา และนำออกเผยแพร่ ณ การประชุมใหญ่ว่าด้วยการศึกษาศาสนาในประเทศจีนในเชิงสังคมศาสตร์ครั้งที่ 7 (7th Symposium of the Social Scientific Study of Religion in China) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า ความสนใจในพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างระเบิดระเบ้อในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์แห่งนี้ระบุว่าปัจจุบันมีคนจีนที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอยู่ราว185 ล้านคน

พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่จากอินเดียเข้าสู่จีนโดยผ่านมาตามเส้นทางสายไหม (Silk Road) ตั้งแต่เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษแรกแล้ว ปรากฏว่าลัทธิความเชื่อนี้ได้รับความสนับสนุนจากจักรพรรดิหลายพระองค์ตลอดจนจากเจ้านายบุคคลชั้นสูง คำสอนของพุทธศาสนาจึงแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วมาก บุคคลผู้มีชื่อเสียงในทางศาสนาพุทธชาวอินเดีย ได้รับการเชื้อเชิญให้มาสอนสั่งปรัชญาพุทธ และมีการแปลคัมภีร์ศาสนาพุทธจำนวนมากเป็นภาษาจีน

ในยุคที่ประเทศจีนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตงแม้ขึ้นชื่อในเรื่องเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา แต่ก็ไม่ได้มีการสั่งห้ามเผยแพร่หรือห้ามปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม วัดวาอารามตลอดจนองค์กรของชาวพุทธจำนวนมาก ได้ถูกรัฐทยอยเข้ายึดครองไปเรื่อยๆ

ตอนที่จีนปราบปรามพุทธศาสนาแบบทิเบตอย่างทารุณโหดเหี้ยมในปี 1959 ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากสมาคมชาวพุทธแห่งประเทศจีน (Buddhist Association of China) ซึ่งเป็นองค์การที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาล ครั้นถึงสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธจำนวนมากถูกทำลายเสียหายยับเยิน แต่หลังจากเหมาถึงแก่มรณกรรมในปี 1976 การปราบปรามศาสนาต่างๆ ก็ผ่อนคลายลงไปในระดับหนึ่ง

คล้ายๆ กับหนุ่มสาวชาวเมืองในประเทศจีนจำนวนมากในปัจุบัน หนุ่มวัย 30 เศษผู้หนึ่งที่บอกเพียงชื่อเล่นของเขาว่า “เอ็ดดี้” ได้หันมาหาพุทธศาสนาเพื่อเสาะแสวงความหมายในชีวิต เขากล่าวว่า พุทธศาสนาช่วยเขาให้ค้นพบคำตอบต่อคำถามต่างๆ ทั้งในเรื่องวัตถุประสงค์ของมนุษยชาติ และในเรื่องสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อไปข้างหน้า

“พุทธศาสนาชี้ให้ผมมองเห็นโลกที่ใหม่เอี่ยมไม่เหมือนเดิม พุทธศาสนาเป็นเหมือนแสงสว่างที่ส่องทางให้แก่ชีวิตของผม พุทธศาสตร์ทำให้ผมเกิดความหวัง ทำให้ผมเข้าใจพลังอำนาจของปัจจุบันขณะ” เอ็ดดี้บอก “ผมคิดว่าผมกำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแห่งการเชื่อมโยงติดต่อกับตัวผมเอง”

กระนั้น ต้วนหยี่ว์หมิง (Duan Yuming) ศาสตราจารย์แห่งสถาบันศาสนาศึกษา (Institute of Religious Studies) มหาวิทยาลัยซื่อชวน (Sichuan University) ชี้ว่า ขณะที่ความสนอกสนใจในพุทธศาสนากำลังทวีขึ้นอย่างมากก็จริง แต่มีคนจีนจำนวนน้อยมากๆ ที่ประกาศตนเป็นชาวพุทธอย่างจริงจัง “พวกเขาปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเพียงเพื่อให้เกิดความสงบสันติขึ้นในจิตใจ”

ทว่ากระทั่งความสนใจอย่างหยาบๆ ผิวเผินก็ยังถือเป็นเรื่องดี ศาสตราจารย์ต้วนบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS)

“พุทธศาสนาเป็นการพัฒนาจิตใจเพื่อนำไปสู่ความสุขอันแท้จริง การปฏิบัติของชาวพุทธ เป็นต้นว่า การนั่งสมาธิ คือวิธีในการแปรเปลี่ยนตนเองและในการพัฒนาคุณภาพของการมีสติ, ความเมตตา, และปัญญา … คนจีนทุกวันนี้ต้องทำอะไรต่ออะไรอย่างเร่งรีบอยู่เรื่อย พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งวิธีที่จะผ่อนคลายผ่อนพัก สมาธิสามารถช่วยพวกเขาให้ค้นพบความสงบสันติของจิตใจ” เขากล่าว

ระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการก่อสร้างตลอดจนการฟื้นฟูบูรณะสถานที่ทางพุทธศาสนาตลอดทั่วทั้งประเทศจีน และการท่องเที่ยวไปยังจุดสำคัญทางศาสนาทั้งของพุทธและของศาสนาอื่นๆ ก็เป็นที่นิยมกันมากขึ้น ในปี 2006 จีนได้จัดการประชุม “เวทีชาวพุทธทั่วโลก” (World Buddhist Forum) และในปีหน้าก็จะเริ่มห้ามการทำเหมืองในพื้นที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชาวพุทธ

ความสนใจที่เพิ่มสูงขึ้นในศาสนานี้ ส่วนหนึ่งมีต้นตอมาจากความรู้สึกหลงใหลในมนตร์เสน่ห์ของทิเบต ถึงแม้ชาวจีนจำนวนเกินกว่าครึ่งมากมายนักต่างมีทัศนะว่า เขตปกครองตนเองทิเบตคือดินแดนของจีนที่ต่างด้าวจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ แต่คนจีนที่เป็นชาวเมืองจำนวนมากเวลานี้ พอพูดถึงทิเบตก็จะคิดถึงเขตพื้นที่ชายแดนอันทุรกันดารที่แสนจะโรแมนติก ผลก็คือ การท่องเที่ยวสู่นครลาซา เมืองหลวงของทิเบต ตลอดจนดินแดนอื่นๆ ถัดไปจากนั้น กลายเป็นที่นิยมเฟื่องฟูอย่างมากในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้

ต้วนบอกว่าการที่ชาวฮั่น (Han) ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของจีน กำลังมีความสนอกสนใจในพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นเหตุทำให้พวกเขาบังเกิดความเข้าใจและรู้สึกถึงความสัมพันธ์กับทิเบตในทางที่ดีขึ้น –ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทะไลลามะ องค์ประมุขทางจิตวิญญาณของทิเบต ผู้หลบหนีจากจีนไปยังอินเดียในปี 1959 ได้กล่าวออกมาด้วยพระองค์อง

ทั้งนี้ทะไลลามะบอกกับกับ ปิโค ไอเยอร์ (Pico Iyer) นักเขียนซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือว่าด้วยพระประวัติของพระองค์ว่า “ถ้าอีก 30ปีนับจากนี้ไป ทิเบตคือดินแดนที่มีชาวทิเบต 6 ล้านคน และชาวจีนที่เป็นชาวพุทธอีก 10 ล้านคน นั่นก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถรับได้”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000174252

No comments:

Post a Comment