Monday, March 26, 2012

หลวงพ่อฟับเดย์ อดีตบาทหลวงและนักธุรกิจ สู่วิถีเซน



กับดักชีวิต'เอเดรียน' นักเล่นหุ้นที่เคยรุ่งเรือง

“เมื่อก่อนฉันเป็นนักเล่นหุ้น ตอนนั้นภรรยาบ่นเสมอว่า แม้จะเลิกงานแล้ว ฉันก็ไม่ได้อยู่กับเธออย่างแท้จริง” หลวงพ่อฟับเดย์ จากหมู่บ้านพลัม อดีตนักเล่นหุ้น เอเดรียน สเตียร์ (Adrian Stier) เล่าให้นักธุรกิจไทยที่เข้าภาวนาฟัง
ท่านเคยเป็นนักเล่นหุ้น เจ้าของบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ที่ประสบความสำเร็จมีรายได้มากมาย แต่ตกอยู่ในห้วงความเครียดและไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ท่านก็ไม่ต่างจากคนอื่นคือ คิดว่าชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่เคยบวชเป็นบาทหลวงคาทอลิก แต่ก็ไม่ค้นพบหนทางที่ตัวเองคิดว่า ใช่
“การเป็นนักธุรกิจ เรามักจะคิดว่า ต้องทำงานให้สำเร็จมากกว่าจะคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้าง ที่จริงแล้วเรื่องหลังสำคัญกว่า เมื่อก่อนฉันก็ไม่คิดเรื่องความสัมพันธ์ แต่เมื่อฉันเติบโตภายใน สิ่งแรกที่ฉันคิด หลังจากตื่นนอนคือ ยิ้ม เพราะ 24 ชั่วโมงที่ใหม่สุดอยู่ตรงหน้า ฉันเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในภายหลัง” หลวงพ่อฟับเดย์ เล่า
1.
"ในโลกธุรกิจ เวลามีการพรีเซ้นท์งาน บางครั้งทานอาหารไป ฟังไป ถ้าทำอย่างนั้น เราจะมีจิตที่ชื่นชมอาหารหรือ เพราะต้องฟังรายงาน ในสมัยนั้นฉันก็แยกตัวมาทานอาหารตามลำพังและเจริญสติไปด้วย" หลวงพ่อเล่าถึงการปฏิบัติตามแนวทางหมู่บ้านพลัมเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่ได้บวช แต่นำการภาวนามาใช้กับการทำงาน
“สมัยก่อนฉันเป็นนักวิเคราะห์หุ้น เวลาคุยโทรศัพท์จะเหนื่อยมาก อยากจะวางสายเร็วๆ งานต่างๆ ที่เข้ามาเยอะมาก ฉันต้องค่อยๆ เจริญสติ ไม่โกรธ วิธีการเจริญสติจะดีกับหัวใจ”
เพราะใน โลกธุรกิจมีแต่ความวุ่นวาย หลวงพ่อบอกว่า มีโครงการต่างๆ มากมายในหัวของเรา และมีพลังโกรธที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย “พ่อของฉันเดินเร็วมาก คิดเรื่องต่างๆ ได้เร็ว คิดโน้นคิดนี่ตลอดเวลา และฉันจำได้ว่า ลูกชายวัย 16 ปีเคยเดินเข้ามาหาด้วยความโกรธ ฉันเห็นเลยว่า ฉันเองก็เคยมีความโกรธเหมือนลูกชาย ถ้าจิตของฉันไวก็จะทันสถานการณ์”
ในสมัยที่จิตยังไม่เท่าทันความคิด หลวงพ่อบอกว่า เมื่อลูกชายวัย 16 ปีเดินเข้ามา เขารู้สึกอยากสั่งสอน มีจิตที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย แต่ที่สุดก็ได้เรียนรู้ ส่วนลูกสาวเป็นนักแสดงที่ฮอลลีวู้ด ตอนนี้ค่อยๆ ลดงานแสดง หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณ
2.
เมื่อนักเล่นหุ้นคนนี้ได้พบกับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และเริ่มนำแนวทางหมู่บ้านพลัมมาใช้กับชีวิต จนกระทั่งตัดสินใจบวชเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นหลวงปู่บอกท่านว่า
"ให้ขายหุ้นทั้งหมด แล้วนำเงินไปให้คนอื่น ลืมทฤษฎีต่างๆ ให้หมด แล้วเรียนรู้ความอ่อนน้อมถ่อมตน"
หลังจากบวชหลวงปู่ตั้งชื่อให้ท่านว่า ฟับเดย์ ตอนนั้นนักบวชก็หัวเราะ เพราะมีความหมายว่า น้องชายคนเล็ก เหตุผลที่ตั้งชื่อนี้เพราะหลวงพ่อฟับเดย์เคยบวชเป็นบาทหลวงมาก่อน
ท่านเล่าถึงโลกธุรกิจที่จากมาว่า เพราะโลกธุรกิจขับเคลื่อนด้วยความเห็นบางอย่าง ทำให้เราไม่มีอิสระ แต่จริงๆ แล้วเรามีทางเลือก เพราะพลังที่มาจากความรัก
“ที่สำคัญคือ ฉันยิ้มบ่อยขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนฉันเป็นคนจริงจังมาก ตอนหนุ่มๆ ฉันคิดว่า ต้องไปแก้ไขความเสื่อมทางศีลธรรมตามจุดต่างๆ ของโลก พระพุทธเจ้าค้นพบความจริงและใช้เวลา 45 ปีเผยแพร่ธรรม พระพุทธเจ้าได้ให้โอกาสและวิธีการสำหรับพวกเราในการจัดการความเคยชินหรือความทุกข์ของเรา เราก็สามารถพัฒนาจิตใจของเราให้อยู่ในระดับเดียวกับพระเยซูหรือพระพุทธเจ้าได้”
ท่านค้นพบว่า ทั้งพระเยซูและพระพุทธเจ้าเหมือนพี่น้องทางธรรมกัน แม้จะอยู่ในสถานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองมี เราก็มีเช่นกัน เราต่างแสวงหาความหลุดพ้น
“ฉันเคยเป็นบาทหลวงคาทอลิกสามารถยกโทษ ชำระบาปให้คนอื่นได้ ฉันเคยให้พวกแม่บ้านที่มาสารภาพบาปกลับบ้านไปอบเค้กให้สามีเหมือนเดิม ซึ่งตอนนั้นฉันยังไม่ได้ค้นพบการปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ จนได้รู้ว่า การเรียนรู้การยกโทษให้ซึ่งกันและกัน ไม่ได้มาจากเบื้องบน แต่มาจากความเข้าใจ”

3.
การปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ เพื่อละทิ้งความโกรธ เป็นวิธีหนึ่งตามแนวทางหมู่บ้านพลัม เพื่อให้เรากลับมาสร้างความสัมพันธ์อันดีอีกครั้ง
“8 ปีที่แล้วฉันเกษียณอย่างมีความสุข แต่อัตตาของฉันก็ยังทำงานอยู่เต็มที่ มีอะไรในชีวิตอีกมากมายที่รอฉันอยู่ เมื่อก่อนฉันคิดว่า ฉันมีโชคมหาศาล ได้เดินทางไปที่ต่างๆ และมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความรัก มีคนถามว่า ความสุขคืออะไร ฉันบอกว่า คุณจะรู้เองเมื่อคุณมีความสุข”
ส่วนความสุขของหลวงพ่อ เป็นเสมือนความรู้สึกเบิกบานที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
“ความสุขของฉันเหมือนกระแสน้ำลำธารที่ไหลเอื่อยๆ ไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าอยู่ในอดีต ซึ่งเป็นเสมือนกับดักวังวนที่ทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะเบิกบานอยู่กับปัจจุบัน”
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น หลวงพ่อฟับเดย์บอกว่า คนเราทั่วไปมักจะมีความทุกข์หนักโดยไม่จำเป็น ทุกข์จากความคิดของเราเอง
“เราไปคิดว่า คนโน้นคนนี้ทำให้เราโกรธ เรามองคู่ครอง ลูกจ้าง แล้วตำหนิว่า ทำให้เรามีความทุกข์ เพราะเรามีจิตที่ตัดสินว่า เรื่องนั้นไม่ดีเหมือนมีบทหนังในหัว เราตีความเรื่องต่างๆ รอบตัวเราว่าไม่ดี ทั้งๆ ที่เราสามารถถอนตัวเองออกจากการเป็นตัวละครในหนังที่อยู่ในสมองเรา”
หลวงพ่อยกคำสอนหลวงปู่มาเล่าให้ฟังว่า การคิดผิด ตัดสินผิดจะนำมาซึ่งความทุกข์ ต้องกลับเข้าไปมองพลังนิสัยเดิม เราต้องเรียนรู้การปฏิบัติ แม้อัตตาจะทำให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่อัตตาก็นำพาความทุกข์มาให้เราได้เช่นกัน”

4.
ส่วนการปฏิบัติภาวนาในที่ทำงานตอนเป็นนักธุรกิจ ท่านเคยนั่งสมาธิโดยมีเบาะรองบนเก้าอี้ทำงาน เวลามีใครมาพบ ก็ให้เลขาบอกว่า ติดประชุม
"ฉันหาเวลาพิจารณาลมหายใจเข้าออก ทำให้จิตนิ่งสักห้านาทีหรือสิบห้านาที หรือเวลาขับรถก็ภาวนาอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่เปิดวิทยุ เพราะจิตเราจะรับฟังข่าวดีและข่าวร้ายตลอดเวลา ที่ทำได้คือ เปิดเพลงเบาๆ"
ท่านบอกว่า การภาวนาทำให้เรามีทักษะการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ และทำให้รู้ว่าจะปฏิบัติกับลูกจ้างอย่างไร
"โลกธุรกิจจะขับเคลื่อนด้วยความเห็น ซึ่งบางเรื่องไม่ได้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร ทำให้เราไม่มีอิสระ แต่เรามีทางเลือกเสมอ อย่างข้อริญสติห้าประการ เคยมีนักธุรกิจคนหนึ่งในมาเลเซียบอกว่า ทำไม่ได้หรอก เพราะทำธุรกิจต้องมีการโกหกบ้าง"
หลวงพ่อบอกว่า ข้ออบรมสติห้าประการ ทางหมู่บ้านพลัมจะไม่ใช้คำว่า ศีล เพราะจะทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราปฏิบัติไม่เต็มที่เหมือนเราผิดศีล ซึ่งมีนัยทางศีลธรรม อย่างข้อหนึ่ง ไม่ฆ่าสัตว์ เราอาจเริ่มจากไม่ทานเนื้อสัตว์ จะช่วยดูแลทรัพยากรได้มาก
“ลดการกินเนื้อสัตว์ ช่วยลดภาวะโลกร้อน อย่างที่รู้กันว่า บริษัทขนาดใหญ่สร้างมลพิษจำนวนมาก สำหรับคนที่ทานเนื้อสัตว์ให้จินตนาการว่า ถ้ามีคนมากินเนื้อเราบ้างล่ะ ตอนที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ฉันยังดื่มไวน์กับภรรยา แต่หลายปีต่อมาฉันตระหนักดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับภรรยา ไม่ต้องมีไวน์เพื่อความเพลิดเพลินก็ได้”
ดูเหมือนว่า เวลาการพูดคุยกับนักธุรกิจกลุ่มเล็กๆ กว่า 20 คนที่เลือกเข้าห้องที่หลวงพ่อฟับเดย์เป็นผู้นำการพูดได้รับความสนใจมาก แม้การพูดคุยจะจบลง เพื่อเข้าภาวนากลุ่มใหญ่ แต่ยังมีคำถามอีกมากมาย และหลวงพ่อบอกว่า
“เราจะไม่เดินคุยกัน ให้เดินกลับไปที่ห้องประชุมใหญ่ด้วยวิถีแห่งสติ”

ที่มา

No comments:

Post a Comment