Friday, March 22, 2013

ถึงเวลาเช็คบิลไอแบงก์ล้างขบวนการปล่อยกู้พิสดาร


ถึงเวลาเช็คบิลไอแบงก์ล้างขบวนการปล่อยกู้พิสดาร

โพสท์ทูเดย์ 20 มีนาคม 2556 เวลา 09:06 น.
โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ
ปัญหาหนี้เสียที่ซุกอยู่ใต้พรมของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ถูกเปิดออกมากำลังกลายเป็นแผลเน่าของระบบสถาบันการเงินของรัฐ
หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานงวดวันที่ 31 มี.ค. 2555 พบว่า ในหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีอยู่สูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของสินเชื่อรวมนั้น
จากการตรวจสอบงวดนี้ พบว่า มีลูกหนี้ 22 ราย มียอดหนี้รวมกว่า 1.36 หมื่นล้านบาท ที่ธนาคารจัดชั้นให้เป็นลูกหนี้ปกติ แต่แท้ที่จริงแล้วอาจจะเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย
ขณะเดียวกัน เมื่อ ธปท.ตรวจสอบลึกลงไปก็พบพฤติกรรมการเล่นแร่แปรธาตุการปล่อยกู้พิสดารใน 3 กรณี การโยกย้ายถ่ายเทเงินระหว่างกิจการ การใช้เงินกู้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และการปล่อยเงินกู้ให้กับลูกหนี้เพื่อนำมาซื้อหุ้นบริษัทที่มีหนี้เสีย
พฤติกรรมที่เข้าข่ายตุกติกแบบนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกกับธนาคารรัฐแห่งนี้
ก่อนหน้านี้ ธปท. เคยรายงานผลการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อ 8 กรณีในปี 2554 คิดเป็นมูลหนี้กว่า 3,000 ล้านบาท โดยชี้ว่ามีการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล และคาดว่ามีผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวด้วย โดยผู้บริหารธนาคารในขณะนั้นมี ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่
กระทรวงการคลังในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปล่อยกู้ขึ้นมาชุดหนึ่งมี วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธานการตรวจสอบ
ผลการตรวจสอบของกรรมการชุด วิจิตร ได้สรุปออกมาว่า การปล่อยกู้ของธนาคารส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาตามที่ ธปท.แจ้งมา
จนมาในสมัย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็น รมว.คลัง ได้เข้ามาดูรายงาน ธปท. แล้วเกิดความกังวล จึงสั่งให้ตั้ง อำนวย ปรีมนวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสอบอีกครั้ง ซึ่งผลสอบออกมาอย่างที่คาดคือ “จับมือใครดมไม่ได้”
พ้นไปเพียง 1 ปี ผลการตรวจสอบของ ธปท.ก็กลับมาพบรอยเดิม
ผู้บริหาร ธปท.จึงแทงหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของและผู้กำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้เข้ามาดูแล
ต้นปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังส่งหนังสือถึงไอแบงก์ แจ้งผลสอบของ ธปท. ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องการปล่อยสินเชื่อใน 22 บริษัท ว่า หนึ่งในนั้นมีจากจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อ คล้ายเงินปากถุง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ 34 คน เรียกรับเงินจากการปล่อยกู้และการปรับโครงสร้างหนี้ 37% ของวงเงินสินเชื่อ
ล่าสุดคณะกรรมการไอแบงก์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้สินเชื่อทั้ง 8 กรณี และ 22 กรณี โดยมี เปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา กรรมการธนาคารเป็นประธาน ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการคนนอกอีก 1 คนเป็นกรรมการ เพื่อเข้าประสานข้อมูลกับ ธปท. ในการสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก มีระยะเวลาตรวจสอบ 30 วัน เพื่อหาคำตอบมาชี้แจงในที่ประชุมบอร์ดไอแบงก์ วันที่ 27 มี.ค.นี้
หากยังหาคำตอบไม่ได้สามารถขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน
ธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการไอแบงก์คนปัจจุบัน ชี้ว่า ปัญหาหนี้เสียในไอแบงก์ที่ผ่านมา เกิดจากการปล่อยกู้โดยไม่ดูสภาพคล่องลูกหนี้ การปล่อยกู้ไม่ดูหลักประกัน ขนาดยึดแล้วยังไม่คุ้มมูลหนี้ และการดูแลลูกหนี้ยังไม่ดีพอ เช่น การอนุมัติสินเชื่อต้องจ่ายตามงวดงาน ต้องมีหนังสือรับรองจากวิศวกร แต่พบว่าลูกหนี้แต่งภาพถ่ายเอามาเบิกค่างวดได้ โดยที่งานก่อสร้างจริงไม่เดิน
ถึงตอนนี้การสะสางธนาคารแห่งนี้ใหญ่เกินกว่าที่ ธานินทร์ จะแบกรับได้เพียงคนเดียวเสียแล้ว
อย่าลืมว่า กรรมการธนาคารแห่งนี้หลายคนนั่งทำงานกำกับนโยบาย และอนุมัติสินเชื่อมาตั้งแต่ปี 2553 หากผู้บริหาร พนักงาน มีกระบวนการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ บอร์ดที่ทำหน้าที่อยู่ควรทำอย่างไร
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงการคลัง ต้องยื่นมือเข้าสะสางกระบวนการปล่อยกู้ทุจริตในไอแบงก์ให้ราบคาบเสียที เพื่อให้ธนาคารรัฐแห่งนี้สามารถตอบโจทย์ เปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้
ไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหา

http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/211260/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3

No comments:

Post a Comment