สุลต่านฮัซซานัล โบลเกียห์ มีพระบรมราชโองการประกาศให้บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์แล้วตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป กำหนดบังคับใช้ 3 ระยะ เริ่มจากอ่อนจนถึงโทษรุนแรงประหารด้วยการขว้างปาหิน
ประมวลกฎหมายหลักอิสลามฉบับเคร่งครัดนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากภายในและนอกประเทศ รัฐบาลบรูไนเคยเลื่อนบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้โดยไม่อธิบายเหตุผลเมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งก่อคำถามว่า สมเด็จพระราชาธิบดีโบเกียห์อาจเปลี่ยนพระทัย แต่ทว่าเมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน สุลต่านพระชนมพรรษา 67 พรรษากลับมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บังคับใช้กฎหมายในระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
กฎหมายระยะที่ 1 เป็นการบังคับใช้โทษปรับหรือจำคุกคดีความผิดสถานเบาตั้งแต่ไม่ทำเข้าร่วมพิธีละหมาดวันศุกร์ ไปจนถึงการมีพฤติกรรมลามกอนาจารและการตั้งครรภ์นอกสมรส ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มใช้ต่อไปภายในปีนี้ ครอบคลุมถึงอาชญากรรมจำพวกลักขโมยปล้นทรัพย์ ที่มีบทลงโทษเข้มงวด เช่น ตัดมือตัดเท้าและเฆี่ยนโบย จากนั้นภายในปลายปีหน้า จะเริ่มบังคับใช้โทษรุนแรงระยะที่ 3 เช่นการลงโทษประหารชีวิตด้วยการขว้างปาก้อนหินให้ตายในคดีความผิดฐานคบชู้และรักร่วมเพศ
ระบบกฎหมายของบรูไนก่อนหน้านี้ มีทั้งศาลแพ่งโดยยึดแบบอย่างจากอังกฤษนับแต่สมัยที่ยังอยู่ใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักร และมีศาลรับเรื่องราวตามหลักกฎหมายอิสลาม ที่ใช้จัดการคดีความที่ไม่ใช่คดีอาญา เช่น การสมรสและมรดก อย่างไรก็ดี รัฐขนาดเล็กแต่ร่ำรวยบนเกาะบอร์เนียวแห่งนี้ได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แล้ว เช่น การห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจำกัดผู้คนต่างศาสนา ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านร่วมเกาะบอร์เนียวยังใช้แนวทางสายกลางมากกว่า
การบังคับใช้ชารีอะห์อย่างเคร่งครัดนี้จะทำให้บรูไนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้กฎหมายดังกล่าวในระดับชาติ แบบเดียวกับหลายประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน และอิรัก
บรูไนมีประชากรที่เป็นมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ประมาณ 70 และมีชาวพุทธเชื้อสายจีนราว 15% ผลสำรวจชี้ว่าชาวมาเลย์ส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้ชารีอะห์เคร่งครัด แต่ชาวมุสลิมบางส่วนและพลเมืองที่ไม่ใช่มุสลิมพากันคัดค้านและแสดงความไม่สบายใจกันอย่างเงียบๆ ผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
นับแต่สุลต่านทรงประกาศแผนใช้กฎหมายชารีอะห์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บรรดาฝ่ายต่อต้านพากันวิจารณ์กฎหมายอาญาเคร่งครัดนี้ว่าป่าเถื่อนและผิดขนบของคนในชาติที่มีบุคลิกสุภาพ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยวิจารณ์และเรียกร้องให้บรูไนเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายนี้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
โจเซฟ ชินยง เหลียว นักวิชาการด้านการเมืองมุสลิมจากสิงคโปร์ ให้ทัศนะว่า การใช้กฎหมายนี้สะท้อนถึงความเคร่งศาสนามากขึ้นของสุลต่านเมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษษาที่มากขึ้น
สุลต่านโบลเกียห์ทรงมีพระราชทรัพย์มากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากการจัดอันดับของฟอร์บส์เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ราชวงศ์ของพระองค์ก็มีเรื่องอื้อฉาวเช่นกัน สืบเนื่องจากพระอนุชา เจฟรี โบลเกียห์ ที่เคยถูกกล่าวหายักยอกเงินถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อยุค 1990 และยังมีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากการใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยที่เป็นอิสลาม เช่น ถูกกล่าวหาว่าเปิดฮาเร็มและมีเรือยอชต์ลำหรูที่ตั้งชื่อว่า "เต้านม".
http://www.thaipost.net/news/010514/89782
No comments:
Post a Comment