Monday, April 27, 2009

เมื่อกษัตริย์โบดวง ทรงชักนำ ‘ในหลวง’ เปลี่ยนศาสนา

หนังสือพระราชอารมณ์ขัน
โดย วิลาส มณีวัต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอารมณ์ขัน (humor) และพระราชปฎิภาณเชิงขันที่ฝรั่งเรียกว่า wit ถ้าถามว่า wit เป็นอย่างไร คงจะต้องตอบว่า เครื่องปรุง wit นั้น ต้องมี

อารมณ์ขัน ๑ ส่วน
ปฏิภาณ ๒ ส่วน
ความฉลาดหลักแหลม ๑ ส่วน

นำมาคลุกเคล้ากันเข้า เติมเปรี้ยวเค็มตามชอบ ก็จะได้เป็น wit ออกมา ใช้พริกขี้หนูโรยหน้าเสียหน่อยก็จะดียิ่ง

พูดถึง เรื่อง wit ของพระองค์ ก็ทำให้นึกถึง กษัตริย์โบดวง (H.M. King Baudouin) แห่งประเทศเบลเยี่ยม ได้ทรงเล่าถึงกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ให้ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ฟัง

เรื่องมีอยู่ว่ากษัตริย์โบดวงได้เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยเป็นทางการ พร้อมด้วยพระบรมราชินี ระหว่างที่ประทับอยู่ในพระนครในฐานะเป็นราชอาคันตุกะนั้น ได้ทรงชักนำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลายครั้งให้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาคริสต์อย่างพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถามถึงเหตุผลที่ทรงชักชวน กษัตริย์พระองค์นั้นกราบทูลว่า พระองค์ทรงมีความรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามาก ไม่อยากจะพลัดพรากเหินห่างจากกันเลย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงนับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเท่านั้น เพราะศาสนาคริสต์สอนว่าคริสต์ศาสนิกชนเมื่อสิ้นชีพแล้วจะได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าชั่วนิรันดร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ปฏิเสธคำทูลโดยตรง แต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า

พระพุทธศาสนาก็เชิดชูสัจจะ คือ ความจริง สอนให้ผู้นับถือเข้าถึงความจริง และสัจจะคือความจริงนั้นย่อมมีสภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ปฎิบัติถูกทางแล้วย่อมจะเข้าถึงได้ ดังนั้น ถ้าคำสอนแห่งศาสนาคริสต์เป็นสัจธรรม และพระผู้เป็นเจ้ามีจริง แม้พระองค์นับถือพระพุทธศาสนาก็คงจะเข้าถึงเป็นแน่ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคั่นอยู่ระหว่างพระองค์กับพระผู้เป็นเจ้าก็คงจะมีคนเดียว คือองค์กษัตริย์ ผู้ทรงชักชวนพระองค์เท่านั้น

พระราชดำรัสนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระราชอาคันตุกะมาก จนถึงสนพระราชหฤทัยที่จะทรงศึกษาคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ ส่งไปถวายในโอกาสต่อมา

ท่านมหาปิ่น บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “แปลก และน่าทึ่ง ในพระปรีชาสามารถเป็นมาก....ผมเล่าความจากระแสพระราชดำรัสตรัสเล่าตามที่จำได้”

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงโต้ตอบกษัตริย์โบดวงดังกล่าวข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นถึง wit ของพระองค์ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด ทั้งยังแสดงว่าทรงเข้าพระราชหฤทัยในศาสนาทั้งสอง คือ พุทธและคริสต์ อย่างลึกซึ้งถ่องแท้














การเสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรเบลเยียมอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ
กษัตริย์โบดวงเป็นเวลา ๓ วัน เริ่มเมื่อ ๔ ตุลาคม ๒๕๐๓ ณ ศาลาเทศบาล กรุงบรัสเซลส์
ทั้ง ๒ พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากทางการเทศบาล

No comments:

Post a Comment