เดวิดส์ ชาวแคนาดาที่มีความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยากเป็นอะไรก็ต้องคิดแนวทางว่าจะถึงจุดนั้นได้อย่างไร นำแนวคิดทางพระพุทธศาสนาปรับแนวใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของการสานฝันไปสู่ความมุ่งหมายในชีวิต
สำหรับวันนี้จะไม่พูดเรื่องหนัก ๆ ครับ แต่จะพูดถึงเรื่องราวชีวิตของฝรั่งคนหนึ่งที่สนใจในพระพุทธศาสนา ฝรั่งคนนี้มาเจอกัน ความจริงรู้จักกัน คบกันมานานแล้วครับ และอาศัยอยู่ประเทศไทยนับ 10 ปีแล้ว แต่พูดไทยไม่ค่อยได้ ซึ่งผมเองก็พยายามพูดภาษาไทยด้วย แต่ดูเหมือนกับท่านจะไม่ค่อยสนิทใจ ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าผมมากครับ ตอนนี้ก็มุ่งปฏิบัติธรรม ฝรั่งท่านนี้มาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนผมอยู่จุฬาฯ ได้ 3 ปีท่านก็ปลดเกษียณจากงาน ก็เข้าใจว่าจะเดินทางกลับประเทศที่แคนาดา แต่ท่านก็อยู่ที่เมืองไทย
ระหว่างที่รู้จักกัน ได้มีโอกาศพูดคุยกันสอบถามถึงเหตุผล ที่ท่านมาสนใจในพระพุทธศาสนา ท่านก็บอกผมว่า ท่านเป็นชาวแคเนเดียน เดินทางจากบ้านเกิด เดินทางไปประเทศเยอรมันนี ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 25 ปี มีครอบครัวอยู่ที่นั่น มีลูก 1 คน หลังจากที่ท่านกับภรรยา ตกลงใช้ชีวิตกันคนละทาง โดยที่ลูกโตแล้ว ภรรยายังอยู่ที่ประเทศเยอรมันนี ท่านเก็เดินทางมาที่ทวีปเอเซีย ไปที่ประเทศศรีลังกา ได้มีโอกาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่นั่น
ผมก็ถามว่า ทำไมถึงไปประเทศศรีลังกา ทำไมต้องไปศึกษาพระพุทธศาสนา ท่านตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่ใจของท่านนั้นคิดถึงพระพุทธศาสนาตลอดเวลา ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็มีความสนใจ เวลาบรรยายก็อยากจะพูดแต่เรื่องพระพุทธศาสนา ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านเองนั้นนับถือศาสนาคริสต์ ท่านก็เล่าต่อไปว่า ตลอดเวลาที่อยู่ที่ศรึลังกานั้น ได้มีโอกาสศึกษาภาษาบาลีบ้าง ศึกษาพระไตรปิฏกบ้าง จากพระสงฆ์ชาวลังกา ก็มีความรู้สึกประทับใจในวิถีชีวิตของชาวเอเซีย รู้สึกประทับใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะหลักคำสอนที่สากลที่สุดคือ อริยสัจ 4
ท่านบอกต่อว่า ท่านตั้งใจศึกษามาก แล้วก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า เพราะอะไรจึงคิดเดินทางมาที่ประเทศไทย จู่ ๆ ก็มีความคิดขึ้นมาว่า น่าจะมาที่เมืองไทย เพราะเมืองไทยก็เป็นพุทธศาสนาเถรวาส จึงเดินทางมาบ้านเรา โดยมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนภาษาอังกฤษ ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยเต็มที่ และในที่สุดก็มานับถือศาสนาพุทธ เริ่มเขียนหนังสือพระพุทธศาสนา ซึ่งถึอว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญ อย่างเต็มตัว หลังจากที่ท่านปลดเกษียณจากงานสอนแล้ว ก็ได้เข้าปฏิบัติธรรม ในช่วงนี้สุขภาพท่านอาจจะไม่ค่อยดีนัก
เนื่องจากว่าเป็นโรคหัวใจ ท่านก็บอกว่าโรคหัวใจที่เห็นไม่มีสาเหตุมาจากอะไรหรอก ก็เนื่องจากการใช้ชีวิตอย่างสมบุกสมบันในอดีต คือ กินมาก ดื่มมาก เที่ยวมาก ซึ่งเป็นเหตุให้หัวใจทำงานมากเกินไป ทุกวันนี้ก็ยังต้องรักษาโรคหัวใจอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่านก็คือ การที่ได้เจริญสติ ปฏิบัติสมถะ วิปัสนา ซึ่งก็ทำให้ท่านมีชีวิตสุขสงบ ทำให้ท่านตัดสินใจไม่กลับไปบ้านเกิดที่ประเทศแคนาดา จะขอใช้ชีวิตช่วงสุดท้านที่ประเทศไทย
ปัจจุบันท่านมีอายุ 70 กว่า และเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว มีหนังสือชุดหนึ่ง สี่เรื่อง ได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่จะมอบให้กองทุนการกุศล ท่านก็เอาต้นฉบับมาให้ผมดูเหมือนกัน และมอบให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสี่คนที่ดูแลเรื่องนี้ จากนั้นท่านก็จะไม่แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ อีกต่อไป ท่านมุ่งใช้ชีวิตอย่างสงบ ปฏิบัติธรรมอยู่ที่สำนัก ก็คือที่วัดครับ
นี่ก็เป็นเรื่องราวของฝรั่งท่านหนึ่ง ซึ่งมีตัวตน มีชีวิตอยู่ ท่านเคยถามผมว่า ตอบได้มั๊ย ว่าทำไมท่านถึงมาสนใจในพระพุทธศาสนามาก ทั้ง ๆ ตอนที่สอนในมหาวิทยาลัยก็อยากสอนแต่เรื่องพระพุทธศาสนา แล้วท่านก็สรุปด้วยตัวท่านเองครับว่า สงสัยว่าชาติก่อน ๆ ท่านเคยเกิดเป็นชาวพุทธ เรื่องนี้ผมก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกับท่านโดยตรง แต่ผมนำเอาแนวทางของท่านมาศึกษาวิ้เคราะห์ มาปะติดปะต่อ กับเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ ว่าแนวความคิดอย่างนี้ การกระทำที่เกิดความเลื่อมใส ศรัทธาอย่างนี้พอจะมีตัวเทียบหรือไม่
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือว่า ท่านผู้นี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่พุทธศาสนา (ซึ่งไม่ได้มีเจตนาเปรียบเทียบให้รู้สึกถึงความเด่น และด้อย) แต่ใจของท่านก็ผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา อยู่กับคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่กับหลักธรรม สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องของ พระพาหิยะ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ อสีติมหาสาวก 80 รูป แต่ท่านเป็นท่านเดียวที่เป็นฆราวาส นอกนั้นจะเป็นพระสงฆ์ทั้งหมด พระพาหิยะรูปนี้เดิมทีก็เป็นนายเรือ เป็นพ่อค้า เดินทางค้าขายไปตามเมืองต่าง ๆ ที่สุดก็เรือล่ม ก็ขึ้นฝั่ง ด้วยเหตุที่ต้องว่ายแหวกกระแสน้ำมานาน ผ้าผ่อนก็เลยหลุดลุ่ยทั้งหมด ไม่มีผ้านุ่ง ท่านก็เลยเอาเปลือกไม้มานุ่ง หลบซ่อนอยู่แถบตะวันตกของอินเดีย บริเวณสุปปารกะ ซึ่งปัจจุบันก็บริเวณใกล้ ๆ บอมเบย์ ปรากฏว่าที่นั้นมีศาลเทพารักษ์อยู่ คนก็ไปว่ายกันเป็นประจำ ท่านก็หลบซ่อนอยู่ที่นั้น แต่กลับกลายเป็นเรื่องแปลก กลับกลายเป็นผลดีกับตัวท่าน ก็คือคนทั้งหลายเห็นท่านแต่งตัวด้วยเปลือกไม้ พอเปลือกไม้แห้งท่านก็ไปหาเปลือกไม้ใหม่ไม่ทัน ก็เลยไม่นุ่งผ้า เลยเปลือยกาย คนทั้งหลายก็เลยเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ให้ความเคารพยกย่อง คิดว่าท่านคือพระอรหันต์ (ผู้หมดกิเลส) ท่านเองพอได้รับลาภสัการะ และได้รับคำยกย่อง ก็เลยถือปฏิบัติอย่างนั้น จนกระทั้งในที่สุด เพื่อนเก่าที่เป็นเทวดาเห็นว่าท่านคงไม่ไหวแล้ว ถ้าเพื่อนถึงความคิดอย่างนี้อยู่ ก็จะเป็นการทำลายตนเอง ในที่สุดก็มากระซิบบอก ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ตัวจริงหรอก พระอรหันต์ตัวจริงอยู่ที่วัดเชตวัน ห่างจากนี้ไปประมาณ 1,920 กิโล และนั่นแหละพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า เท่านั้นเอง ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ความแช่มชื่นเบิกบาน และความอยากพบเกิดขึ้นมาทันที ท่านก็รึบเดินทางออกจากศาลเทพารักษ์ เพื่อมุ่งหน้าไปยังเชตวัน ทันที เพราะเหตุที่ได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า เพียงคำเดียว ความคุ้นเคย ความอยากเห็น อยากใกล้ชิด ความมีความหวังต่างๆ ก็เกิดขึ้น แล้วท่านก็เดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี มาถึงวัดเชตวัน ในเวลารุ่งเช้าพอดี หมายถึงรุ่งเช้าของหลายวันนะครับ
พอท่านเข้ามาที่วัด ท่านก็รีบเดินตามหาพระพุทธเจ้า อยากจะพบ พระท่านก็บอกว่า พระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต คอยอยู่ที่นี่แหละ ท่านเองก็บอกว่าคอยไม่ได้แล้ว เพราะว่าไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อยากจะพบเดี๋ยวนี้ ท่านจึงรีบออกจากวัดเชตวัน เดินทางไปยังเมืองสาวัตถี เพราะรู้ว่าพระพุทธเจ้าบิณฑบาตอยุ่ที่นั่น เดินตามหาไปทั่วท้องถนน ทีสุดก็มาพบพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ ทันทีที่พบก็เข้าไปกราบ และทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เวลานี้ตถาคตกำลังบิณฑบาต ไม่ใช่เวลานะ ท่านก็ทูลย้ำอีกว่า แสดงธรรมเถอะ แสดงธรรมโปรดเถอะ เพราะว่าหม่อมฉันไม่รู้ว่า พระองค์หรือหม่อมฉันจะอยู่ได้อีกหรือไม่ เพราะชีวิตนั้นมีอันตรายมากเหลือเกิน จากนี้ไปไม่กี่นาทีก็อาจจะตายจากกันก็ได้ พระพุทธเจ้าก็ห้ามท่านถึง 2 ครั้ง แต่พอครั้งที่ 3 ก็แสดงธรรมให้ฟังสั้น ๆ เพียงว่า เมื่อใดเห็น ก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยิน ก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรส ก็สักแต่ว่าได้ลิ้มรส สัมผัส ก็สักแต่ว่าสัมผัส คิด ก็สักแต่ว่าคิด แต่ว่าอย่าปรุงแต่ง ตัวเธอที่แท้จริงไม่มีหรอก พอท่านฟังพระพุทธเจ้าเทศน์จบ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์กลางถนนนั้นเอง
นี่คือเรื่องของพระพาหิยะ ที่นำมาเล่าให้ฟัง โดยประเด็นของเรื่องนี้ก็คือว่า
พระพาหิยะ พอได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า ก็เกิดความคุ้นเคย อยากพบ
มาถึงเรื่องอาจารย์ท่านนี้ แม้ท่านจะไม่ได้อยู่ในดินแดนพระพุทธศาสนา แต่ท่านก็มีความคุ้นเคย ทุกครั้งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟังเรื่องราวของพระพุทธศาสนา ก็อยากรู้จัก อยากพูดคุย อยากเผยแพร่ความรู้ เป็นเพราะอะไร ตามหลักคัมภีร์ ในพระพุทธศาสนาพูดไว้ชัดเจนครับว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุกองค์ ที่ได้บรรลุมรรค์ผล ในครั้งพุทธกาลนั้น แต่ละรูปได้ผ่านการบำเพ็ญบารมีมาแล้วประมาณ 100,000 กัลป์ (ไม่สามารถกำหนดเป็น วัน เดือน ปี ได้) แต่ในชั่วเวลา 100,000 กัลป์นั้น คือช่วงเวลาที่บ่มเพาะปัญญาให้สามารถตรัสรู้ได้ ในชั่ว 100,000 กัลป์ นั้น ท่านพาหิยะ ได้พบกับพระพุทธเจ้า มาหลายพระองค์ ได้ฟังเทศน์ ของพระพุทธเจ้ามาหลาย ต่อหลายครั้ง ได้ฝึกปฏิบัติ เจริญสติ มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ในที่สุดความคุ้นเคยเหล่านี้ ก็เก็บสะสมอยู่ในจิตใต้สำนึก ฉนั้นชาตินี้ สิ่งที่สะสมไว้นั้นก็กลายเป็นมหากุศลวิบาก ก็คือวิบากที่ทำให้เกิดกุศลจิต เป็นวิบากฝ่ายกุศล และเป็นประเภทอสังขาริ ก็คือไม่ต้องมีใครมาชักชวน มาเกลี่ยกล่อม เพียงได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้น ความคุ้นเคยแบบเก่าที่สะสมไว้นั้น ก็ออกมา ออกเดินทางมาหาพระพุทธเจัา
ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลแบบนี้ ท่านเรียกว่าเป็น อสังขาริ คือไม่มีใคร อะไรมาชักชวน ขณะเดียวกันตัวเองก็ไม่ต้องเกลี้ยกล่อมตัวเอง ไม่ต้องปลอบประโลม ปลอบโยนตัวเอง เพียงได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า เท่านั้น ก็ตัดสินใจได้เลยว่า "ถูกทาง" เกิดมาจากการสะสมยาวนาน ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอาจารย์ฝรั่งท่านนี้ ซึ่งถ้าให้ผมว่าเคราะห์ ผมก็เห็นเด้วยกับคำกล่าวของตัวท่านเองว่า "ท่านคงเคยเกิดเป็นชาวพุทธมาแล้ว" และคงได้เคยศึกษาพุทธศาสนา มายาวนาน ต่อเนื่อง ฉนั้น ในปัจจุบัน แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่ก็กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น ศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนาได้
โดยสรุปเรื่องนี้คือ ความดี เป็นสิ่งที่สะสมได้ เมื่อสะสมได้ ก็จะเก็บไว้อยู่กับตัวเรา เป็นสิ่งที่ติดตัวเรา และติดตัวแบบข้ามภพ ข้ามชาติ เพราะฉนั้น ที่ว่าคนเราแต่ละคนมีความสามารถ มีความถนัด แต่ละด้านอย่างไรนั้น ก็อยู่ที่ความสะสมมา และความสะสมมานี้ เป็นการสะสมแบบข้ามภพข้ามชาติ ฝรั่งเองก็พยายามศึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าเขาไม่รู้ว่ามันเกิดมาได้อย่างไร แต่เขารู้ว่าคนเรามีศักยภาพ มีความสามารถติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเขาใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า inborn capacity เนื่องจากพื้นฐานของฝรั้งได้ศึกษาทางศานา ทางเทวนิยม ถือว่ามีพระผู้สร้าง เขาก็เลยลงความเห็นว่า สิ่งที่พระเจ้าประทานให้ เรียกว่า Gifts แปลว่า สิ่งที่ถูกให้ แต่ในทางพุทธศาสนา ตอบอีกลักษณะที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง มีการกระทำเป็นของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่ได้มาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สะสมมาด้วยตัวของตัวเอง อย่างที่เรียกว่า บำเพ็ญบารมี หรือสั่งสมบารมี
ดังนี้ ความคุ้นเคยในศาสนาต่าง ๆ เหล่านี้ ทางพุทธศาสนาถือว่า ชีวิตไม่ได้จบสิ้นเพียงแค่ชาติเดียว ยังมีการเวียนว่าย ตาย เกิด การสืบต่อไปม่มีที่สิ้นสุด เมื่ออยู่ในโลกนี้ก็เพียงชั่วครู่ ชั่วยาม จากนั้นก็จะต้องเดินทางต่อไป ลักษณะของการเดินทางของชีวิตอย่างนี้ ท่านจะเรียกว่า สังสาระ มาจากคำว่า สัง แปลว่าต่อเนื่อง สาระ แปลว่า การเดินทาง รวมแล้วแปลว่า การเดินทางอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงเรียกว่า การเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเพราะมาก และแผลงคำว่า สังสาระ ไปเป็น สงสาร ความหมายก็ไปอีกเรื่อง
http://www.luktarn.com/index.php?option=com_content&task=view&id=110&Itemid=42
No comments:
Post a Comment