Thursday, April 2, 2015

“ปรากฏการณ์ต่อต้านอิสลาม” ปะทุลามทั่วยุโรป หลังเห็น 18,000 คนรวมตัวขับไล่ในเยอรมัน

 
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เมื่อวานี้(6) อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ต้องออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าว ไม่สนับสนุนให้ประชาชนร่วมเดินขบวนการประท้วงขวาจัด “ต่อต้านอิสลาม” ที่ล่าสุดในคืนวันจันทร์(5)ที่เดรสเดนมีผู้ประท้วงรวมตัวถึง 18,000 คน เป็นปรากฏการณ์ “ต่อต้านอิสลาม” ล่าสุดที่ลามไปทั่วยุโรป รวมถึง สวีเดน ฝรั่งเศส
       
       เอเอฟพีและเดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานถึงปรากฏการณ์ “ต่อต้านอิสลาม” ในยุโรป ที่เห็นปรากฏเป็นรูปร่างในเยอรมัน และดูเหมือนปรากฏการณ์นี้ได้แผ่ขยายลามไปทั่วยุโรปแล้ว โดยสื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(6)ว่า อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันต้องออกมาประกาศห้ามประชาชนเมืองเบียร์เข้าร่วมการประท้วงแบ่งแยกทางศาสนาเช่นนี้ โดยกล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมขบวนการณ์ต่อต้านอิสลามเป็นพวกมีความเกลียดชังเต็มหัวใจ” และประท้วงต่อต้านอิสลามในบริสเบนในคืนวันจันทร์ที่ผานมาสามารถเรียกผู้เข้าร่วมได้ถึง 18,000 คน และถือเป็นครั้งแรกที่การประท้วงต่อต้านอิสลามในเยอรมันได้แผ่ขยายออกไปยังโคโลญจน์ และกรุงเบอร์ลิน
       
       ในขณะเดียวกันการตอบโต้ของผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกศาสนาในเยอรมันส่งสัญญาณต้านด้วยการปิดไฟรอบๆบริเวณมหาวิหารแห่งโคโลญจน์ โบสถ์เก่าแก่ที่สุดในทวีปยุโรป รวมไปถึงประตูบรันเดนบูร์ก
       
       นอกจากนี้หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เยอรมัน บิลด์ ได้ลงแถลงการณ์จากบุคคลสำคัญ 50 คน ในประเทศ รวมไปถึงรัฐมนตรีการคลังเยอรมัน วูล์ฟกัง ชูเบิล นักร้องเพลงร็อค อูโด ลินเดนเบิร์ก และอดีตกัปตันทีมฟุตบอล  โอลิเวอร์ เบียร์ฮอฟฟ์  ออกประนามขบวนการ “ต่อต้านอิสลาม” ครั้งนี้
       
       เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมวันนี้(7)ว่า แดเนียล โคห์น-เบนดิต สมาชิกสภายุโรปพรรคกรีน และนักเคลื่อนไหวเอียงซ้ายให้ความเห็นว่า “ในยุโรป สถานการณ์ทั่วไปมีความอึดอัดที่เห็นการขยายตัวของปรากฏการณ์ต่อต้านอิสลาม” ทั้งนี้ โคห์น-เบนดิตโยงไปถึงการประท้วงของกลุ่มชาตินิยมเยอรมัน PEGIDA ที่สามารถรวมตัวผู้สนับสนุนประท้วงในบริสเบนได้ถึง 18,000 คนในวันจันทร์(5) ทั้งๆที่กลุ่ม PEGIDAเพิ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่เริ่มแรกมีเป้าหมายที่ปัญหาต่างๆหลากหลาย เช่น สื่อสารมวลชน (ที่ถูกประนามว่าเป็นพวกโป้ปด) และบรรดาชนชั้นนักการเมืองชั้นนำของเยอรมัน (ที่ถูกกล่าวหาว่าทำให้วัฒนธรรมคริสเตียนของเยอรมันอ่อนแอลง) โดยไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีศาสนาอิสลามแต่เริ่มจัดตั้ง
       
       นอกจากนี้ทางกลุ่มยังประสบความสำเร็จสามารถชักจูงให้นักเคลื่อนไหวต่างชาติเข้าร่วมอุดมการณ์ เช่น ทอมมี โรบินสัน อดีตหัวหน้ากลุ่มขวาจัดลีกปกป้องอังกฤษต่อต้านอิสลาม (Anti-Islamic English Defence League) ซึ่งในวันจันทร์(5) โรบินสันทวีตข้อความว่า “ธงเซนต์จอร์จนั้นโบกไสวในเดรสเดนร่วมกับPEGIDA และหากว่าผมสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในขณะนี้ สถานที่นั้นต้องเป็นเดรสเดน”
       
       เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากเยอรมันแล้ว ปรากฏการณ์ต่อต้านอิสลามยังขยายตัวไปทั่วยุโรป โดยหนึ่งในแหล่งข่าวจากสมาชิกรัฐสภายุโรปให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อเราไม่ได้ติดต่อกับคนอื่น เมื่อเราไม่รู้จักอีกกลุ่มดีพอ เราต่างรู้สึกกลัวต่อกล่มคนแปลกหน้านั้น เราได้เห็นถึงการลงประชามติเกี่ยวกับมัสยิดในสวิตเซอร์แลนด์ โดยประชาชนชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกลซึ่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่กลับกลายเป็นกลุ่มที่ออกมาต่อต้านมากที่สุด”
       
       แต่ทว่าสิ่งนั้นยังเทียบไม่ได้กับความกลัวที่แท้จริงของชาวยุโรปที่เห็นการอพยพเข้ายุโรปครั้งใหญ่ ซึ่งในสวีเดน ประเทศที่มีความภาคภูมิใจในทัศนคติเสรีชน ต้องตกอยู่ในความตรึงเครียดเมื่อพบกับผู้อพยพลี้ภัยจำนวนถึง 100,000 คนขอเข้ามาอาศัยลี้ภัยในประเทศที่มีประชากรเพียง 10 ล้านคน และนอกจากนี้ ยังได้เห็นถึงการเติบโตของปีกการเมืองขวาจัดสวีเดน พรรคเดโมแครต ที่มีเป้าหมายไปที่การอพยพยเข้าสวีเดน รวมไปถึง เหตุการยิงที่มัสยิดในสวีเดนเกิดขึ้น จนทำให้มีการเกรงถึงการมี “ความเกลียดชังอิสลาม” เพิ่มขึ้นในประเทศ
       
       เมื่อข้ามมายังฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีชุมชนมุสลิมใหญ่ที่สุดในยุโรป มีการถกเถียงถึง “การขยายตัวของอิสลาม” (Islamisation) ซึ่งทำให้มีการเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มขวาจัดฝรั่งเศส “ฟรอนท์ เนชันแนล” และผู้มีต้นทุนทางสังคมในฝรั่งเศส พร้อมกับแรงสั่นสะเทือนจากการเปิดตัวหนังสือในรอบสัปดาห์นี้ของ Michel Houellebecq ที่ตั้งสมมุติฐานถึงฝรั่งเศสที่อาจอยู่ใต้การปกครองของพรรคมุสลิมในปี 2022
       
       และท้ายที่สุด โคห์น-เบนดิต สมาชิกสภายุโรปพรรคกรีนให้ความเห็นสรุปว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเชิงวัฒนธรรมภายในยุโรป “มีกลุ่มPEGIDAในเยอรมัน และยังมีการแต่งงานชนเพศเดียวกันในฝรั่งเศส ทำให้มีความกลัวว่าจะสูญเสียในสิ่งที่ไม่มีเหลืออยู่แล้ว มีความกลัวถึงการเสียความเป็นเยอรมันที่แท้จริงไป การเสียวิสัยทัศน์ความเป็นครอบครัว ซึ่งไม่มีอยู่จริงนานแล้ว เป็นต้น” 
 
 
 
 

No comments:

Post a Comment