Monday, December 21, 2015

พระพุทธรักขิตาภิกขุ อดีตชาวคริสต์ยูกันดา

14/03/2013

พุทธรักขิตาภิกขุ กับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแอฟริกา (ตอนที่ 1)


เรียบเรียงโดย
คุณ สุภาศิริ อมาตยกุล

หน้าปกหนังสือ Planting Dhamma Seeds แต่งโดยพระพุทธรักขิตาภิกขุ เอง 
บทความนี้เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดชีวิตและประสบการณ์จริงของพุทธรักขิตาภิกขุ พระสงฆ์ชาวแอฟริกันรูปแรกในพระพุทธศาสนาและขณะนี้ก็ยังเป็นเพียงรูปเดียวของโลก พระพุทธรักขิตามีความสนใจในคำสอนของพระพุทธศาสนามานาน ได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ประเทศต่างๆ แสวงหาหนทางของชีวิต จนได้บวชเป็นพระภิกษุในปีค.ศ. 2002 จากนั้นท่านกลับไปยูกันดาเพื่อหามารดาและญาติพี่น้อง โดยกลับไปในฐานะพระภิกษุและพระธรรมทูตในพระพุทธศาสนา ท่านต้องฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนความไม่เข้าใจแม้แต่จากชุมชนท้องถิ่นและญาติพี่น้อง แต่ในที่สุดท่านสามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ และจัดตั้งศูนย์พระพุทธศาสนาขึ้นที่กรุงกัมปาลา (Kampala) นครหลวงของประเทศยูกันดา (Uganda) เมื่อปีค.ศ. 2005
คำนำ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคำเรียกร้องมากมายของผู้ที่อาตมาพบในแอฟริกา อเมริกา และเอเชีย พวกเขาถามอาตมาด้วยคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อยู่เสมอ บางครั้งอาตมาได้แต่ตอบพวกเขาไปอย่างสั้นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วไม่มีเวลามากพอที่จะตอบได้อย่างครบถ้วน
มีคนถามอาตมาอยู่ตลอดว่า อาตมานับถือศาสนาอะไรก่อนจะบวชเป็นพระ เรียนทำสมาธิจากที่ไหนในยูกันดา บวชได้อย่างไรในยูกันดาทั้งๆ ที่ไม่มีวัดเลย ใครคือแรงบันดาลใจให้ออกบวช ทำไมจึงบวชเป็นพระ การจะบวชต้องทำอย่างไรบ้าง อาตมามีวัดเป็นของตัวเองในยูกันดาหรือไม่ ครอบครัว (โยมแม่) ของอาตมารู้สึกอย่างไรที่อาตมาบวช คนแอฟริกันคิดอย่างไรกับอาตมาในฐานะพระสงฆ์ เป็นต้น
เป็นเรื่องยากที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่เป็นอัตชีวประวัติ แต่ถ้าดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นก็ขอให้ผู้อ่านอดทนสักหน่อยเถิด ด้วยจุดประสงค์หนึ่งเดียวของอาตมาคือการพยายามอธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในแอฟริกา โดยเฉพาะในยูกันดา เป็นปณิธานของอาตมาที่ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยตอบคำถามของท่านทั้งหลาย และเป็นแรงผลักดันให้ท่านก้าวไปข้างหน้าสำหรับการเดินทางในโลกแห่งธรรมะ
“เป็นการยากกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก เป็นเรื่องยากที่จะได้เกิดมาพบพระธรรม การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง”
ธรรมบท: 182
ตอน 1: ครั้งแรกที่รู้จักพระพุทธศาสนา
ชาติกำเนิด
ชื่อเดิมของอาตมาคือสตีเว่น คาบอคโกซา (Steven Kaboggoza) เกิดเมื่อปีค.ศ.1966 ในครอบครัวชาวคริสต์ ณ กรุง กัมปาลา ประเทศยูกันดา ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยูกันดามีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศซูดาน(Sudan) ตะวันตก ติดกับคองโก(Congo) และใต้ติดกับรวันด้า(Rwanda) ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดทะเลสาบวิคตอเรีย (Lake Victoria) แทนซาเนีย (Tanzania) และเคนยา (Kenya) ยูกันดาเป็นประเทศเล็กๆ ยากจน ประชากรมีความซับซ้อนเพราะประกอบขึ้นด้วยหลายชนเผ่า หนึ่งในนั้นคือ บูกันดา (Buganda) ประเทศถูกแบ่งแยกอันเป็นผลจากสงครามและเผด็จการทรราชที่กินเวลานานหลายปี สิทธิเสรีภาพถูกจำกัด แต่ในความน่าเศร้านั้นยังมีข้อดีอยู่บ้าง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เคยกล่าวไว้ว่า “เพราะความสวยงามและสีสันอันหลากหลาย อีกทั้งสิ่งมีชีวิต พืช นก แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่าที่มีจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้ยูกันดาคือ ไข่มุกแห่งแอฟริกา อย่างแท้จริง”
“คนที่นั่ง พักผ่อน เดินอยู่คนเดียว ด้วยความพากเพียรในการฝึกตน ผู้ซึ่งสามารถควบคุมตัวเองได้เมื่ออยู่เพียงลำพัง ผู้นั้นย่อมพานพบความผาสุขแม้ในป่าใหญ่”
ธรรมบท : 305
วัยเด็ก
เมื่ออาตมาเป็นเด็ก ในยูกันดาไม่มีใครรู้จักพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาหลักคือคริสต์และอิสลาม ในยูกันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวอาตมา การไม่เคารพพระเจ้ามักจะถูกมองว่าเป็น “แกะดำ” หรือ “มิตรของปีศาจ”
บทเรียนการทำสมาธิบทแรกอย่างไร้แบบแผนในยูกันดา
ตอนอาตมาอายุห้าปี โยมแม่ซึ่งเป็นคนใจกว้าง สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และมีอิทธิพลอย่างมากกับชีวิตของอาตมา ได้ยอมรับความแตกต่างของเราสองคนอย่างง่ายดาย ท่านไม่พยายามเปลี่ยนแปลงลูกๆให้เป็นอย่างที่ท่านต้องการโดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อทางศาสนา โยมแม่มีความปราดเปรื่องตามธรรมชาติในแบบของท่านเอง
โยมแม่บอกอาตมาอยู่เสมอ “ถ้าไม่มีอะไรจะพูด จงเงียบ ถ้าไม่มีอะไรจะทำ ก็ไปนอนเสีย” คำสั่งสอนสองข้อนี้เข้ากับลักษณะนิสัยของอาตมาอย่างยิ่ง อาตมาไม่ชอบนอนกลางวัน แต่เมื่อไม่มีอะไรจะทำ โยมแม่จึงบังคับให้นอน โชคไม่ดีที่อาตมามักจะหลับไม่ค่อยลง จึงนอนพลิกตัวไปมาอยู่บนเตียง ในที่สุดก็นอนตื่นอยู่อย่างนั้นปล่อยให้ความคิดโลดแล่นไป พร้อมกับเฝ้าดูโยมแม่ซึ่งสามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคิดย้อนกลับไป เข้าใจว่าในเวลานั้นอาตมาไม่มีวัตถุสำหรับกำหนดจิตในการทำสมาธิ แต่นั่นไม่ใช่วิธีง่ายที่สุดในการทำสมาธิหรอกหรือ หมายถึงการอยู่อย่างสงบเงียบ เฝ้าดูความคิดต่างๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
โดยส่วนตัวแล้ว อาตมาคิดว่าได้รับบทเรียนที่มีค่ายิ่งในการทำความคุ้นเคยที่จะอยู่กับความเงียบและความว่างเปล่า คงเป็นประโยชน์มากทีเดียวถ้าในเวลานั้นมีคนสอนวิธีทำสมาธิขั้นสูงให้อาตมา แล้วการทำสมาธิแบบที่ว่านั้นจะหาได้จากไหนกัน...
เมื่ออยู่ชั้นประถม อาตมาชอบไปโรงเรียนทุกวันอาทิตย์ซึ่งจะมีการร้องเพลงและเล่านิทาน แต่ภายหลัง การเข้าโบสถ์ได้กลายเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเป็นคนเลื่อมใสและเคร่งครัดในศาสนาของท่านมาก ท่านติดตามจดบันทึกว่าใครมาหรือไม่มาเข้าโบสถ์บ้าง การไม่เข้าโบสถ์จะนำไปสู่การลงโทษบางอย่าง วิธีการเช่นนี้ทำให้เกิดการต่อต้านขึ้น ทีละเล็กละน้อยในใจของอาตมา
ช่วงวัยรุ่น โรงเรียนประจำนิกายแคธอลิคได้อบรมสั่งสอนอาตมาในแนวทางแบบศาสนาคริสต์ ในยูกันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวอาตมา การไม่เคารพพระเจ้ามักจะถูกมองว่าเป็น“แกะดำ”หรือ“มิตรของปีศาจ” อาตมาเริ่มเกิดความสงสัยว่าจุดประสงค์ของการไปโบสถ์นั้น เป็นไปเพื่อให้ผู้อื่นพึงพอใจหรือเพื่อพัฒนาจิตใจกันแน่ มันคงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียวถ้าในตอนนั้นมีใครสักคนหนึ่งสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนาอย่างลึกซึ้งให้กับอาตมา ช่วงวัยนั้นเอง ในความทรงจำลางๆที่พอจะจำได้คืออาตมาเคยเรียนเกี่ยวกับชาวอินเดียคนหนึ่งที่ชื่อโคตมะ (ชื่อราชศากยวงศ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงเท่านั้นที่อาตมารู้ โดยรู้เท่าๆ กับคนแอฟริกันทั่วไป
“นี่คือชีวิตทั้งหมดในทางจิตวิญญาณ อานนท์ หมายถึงการมีกัลยาณมิตร เมื่อพระรูปหนึ่งมีกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมคาดหวังได้ว่าท่านผู้นั้นจะพัฒนา และเข้าถึงมรรค ๘ ในที่สุด”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (SN 45:2)
เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และได้พบพระสงฆ์ในพุทธศาสนา
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 อาตมาเดินทางไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นการไปศึกษาพระพุทธศาสนาแทน มีนักศึกษาต่างชาติชาวแอฟริกันและเอเชียอยู่ไม่กี่คน ในจำนวนนั้นมีพระสงฆ์สองรูปจากประเทศไทย อาตมารู้สึกใกล้ชิดกับพระสองรูปนี้และมีเพียงท่านทั้งสองที่เป็นเพื่อนของอาตมา ทั้งสองท่านก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ท่านไม่ได้สอนอาตมาเรื่องการทำสมาธิในทันที แต่ค่อยๆ แนะนำทีละเล็กละน้อยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านมีน้ำใจพาอาตมาไปที่ตลาดท้องถิ่นและยังแบ่งปันอาหารให้อีกด้วย ในตอนนั้นอาตมาไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาพุทธ อาตมาต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายถวายภัตตาหารแด่ท่านทั้งสอง
เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ท่านสันสิติ (Sandsiti) พระหนึ่งในสองรูปชวนอาตมาให้ไปกับท่านที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวชานเมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ชาวอินเดีย เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาพุทธ
อาตมาเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่แต่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญ เมื่อเวลาผ่านไปอาตมาเริ่มมีความสนใจมากขึ้นในคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาเคารพชื่นชมพระสงฆ์เหล่านี้ด้วยใจจริง สิ่งต่างๆ ที่ท่านปฏิบัติสัมผัสความรู้สึกเมตตา กรุณา ซาบซึ้งในส่วนลึกของจิตใจอาตมา ระหว่างช่วงวันหยุดที่ท่านทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทย อาตมาคิดถึงพวกท่านอย่างมาก ถามตัวเองว่าอาตมาจะไปพบพระสงฆ์รูปอื่นๆได้ที่ไหน
“บุคคลควรเจริญรอยตามผู้เจริญผู้ซึ่งแน่วแน่ ปราดเปรื่อง ใฝ่รู้ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และเสียสละทุ่มเท บุคคลควรเจริญรอยตามผู้ซึ่งถึงพร้อมด้วยความดีดุจพระจันทร์โคจรตามเส้นทางของดวงดาว”
ธรรมบท : 208
สายสัมพันธ์พิเศษกับองค์ดาไลลามะ
ช่วงวันหยุดภาคฤดูร้อน อาตมายังคงตามหาเพื่อนชาวพุทธ อาตมาขึ้นรถเมล์รอบกลางคืนเพื่อไปยังธรรมศาลา (Dhammasala) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์ดาไล ลามะ อาตมาคิดในใจ ‘ประเทศนี้ช่างดีจริงๆ กลางคืนก็ยังเดินทางได้’ ขณะที่ยูกันดานานมากแล้วที่เราไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ในเวลากลางคืนเนื่องจากสงครามและปัญหาทางการเมือง แต่ที่นี่อาตมารู้สึกได้รับอิสรภาพอีกขั้นหนึ่ง เป็นการนั่งรถที่ยาวนานมากในรถ “มะม่วงเชค” (รถโดยสารเก่าคร่ำครึราคาถูก)ไปยังธรรมศาลาที่ตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย การเดินทางน่าตื่นตาตื่นใจจนอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นความจริงหรือแค่ฝันไป เป็นสิ่งที่อาตมา ไม่สามารถจินตนาการว่าจะทำเช่นนี้ได้หากอยู่ในยูกันดา เป็นความรู้สึกเหมือนครั้งแรกที่อาตมารู้จักกับธรรมะ คำสอนในพระพุทธศาสนาว่า “เราได้พบกับสิ่งที่นำอิสรภาพมาให้”
วันหนึ่ง อาตมาไปร่วมในการออกพบปะสาธรณชนขององค์ดาไล ลามะ โดยมีชาวตะวันตกอีกนับร้อยคนที่ไปรอถวายความเคารพแด่ท่านที่ธรรมศาลา คนผิวสีคนเดียวจากแอฟริกาท่ามกลางคนขาวจากทั่วทุกมุมโลก อาตมาจึงโดดเด่นเป็นที่สังเกต เห็นได้โดยง่าย อาตมามีความสุขมากที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับองค์ดาไล ลามะ ยิ่งกว่านั้นยังโชคดีได้จับมือกับท่านอีกด้วย ท่านให้พรกับอาตมา ซึ่งอาตมาสัมผัสได้ถึงรังสีแห่งความอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาที่นำความสงบสดชื่นมาสู่จิตใจ อาตมามีแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมเมื่อได้ฟังท่านสอนธรรมะ ท่านแสดงความอาทรและความรู้ในธรรมะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาบอกกับตัวเองว่า “ที่นี่คือบ้าน บ้านทางจิตวิญญาณของอาตมาอยู่ที่ธรรมศาลานี่เอง” อาตมาตัดสินใจที่จะใช้วันหยุดทั้งหมดที่มีในปีต่อๆ มา ณ ที่แห่งนี้
การเดินทางเข้าสู่พระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นเมื่อพบกับพระสงฆ์ในอินเดีย อาตมาได้รับการจูงใจอย่างแรงกล้าจากเพื่อนสนิทที่สนใจเรื่องเดียวกัน และได้พบแนวคำสอนเพื่อเข้าถึงความสุขที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ตัวอย่างเช่น มรรคมีองค์ 8 คำสอนเรื่องกรรม (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา) ที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบในการกระทำของตน เหล่านี้คือสิ่งที่ ทำให้อาตมาหูตาสว่าง ภายหลังอาตมาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงพระนิพพาน
คำสอนเหล่านี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นอิสรภาพที่ยิ่งใหญ่ การศึกษาทางวิชาการในประเทศอินเดียที่สุดได้กลายมาเป็นการศึกษาทางจิตวิญญาณ
“ผู้เข้าใจผิดในสิ่งไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เป็นผู้มีความเห็นผิด จะไม่สามารถเข้าถึงสาระที่แท้จริง ผู้เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเข้าถึงสิ่งที่เป็นสารัตถะแท้จริง”
ธรรมบท : 11-12
แสวงหาอาจารย์ทางจิตวิญญาณ
มีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับเรื่องทางจิตวิญญาณมากมายในอินเดีย: ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกซ์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ เป็นต้น แรงจูงใจที่นอนนึ่งอยู่ภายในได้ผลักดันให้อาตมาออกตามหา “บางสิ่ง” แต่ในตอนนั้น “บางสิ่ง” ที่ว่ายังคงคลุมเครือ อาตมาจึงเปิดใจกว้างศึกษาศาสนาต่างๆ เช่น ได้เข้าร่วมกลุ่มที่ศูนย์รวมศรัทธาศาสนาบาไฮ (Baha’i Faith Centre) ในจัณฑีครห์ หรือเข้าร่วมกับกลุ่มกูรุส (Gurus) และสวามิส (Swamis) ที่สร้างความประทับใจให้เป็นอย่างยิ่ง
อาตมาศึกษาเรื่องจิตและฝึกทำสมาธิกับวิมาลา ทาการ์ (Vimala Thakar) ความมหัศจรรย์ของเธอมากเกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือ เธอเป็นคนโอบอ้อมอารี อาตมาเลื่อมใสเธออย่างมากในเรื่องนี้ วิมาลาบอกกับอาตมาว่าเธอไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่ก็ให้ความนับถืออย่างมากต่อพระพุทธเจ้า เธอสอนสมาธิสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความสงบ เธอแนะให้เรานำตัวเองไปใกล้กับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจจิตใจของตัวเราเอง เป็นการทำให้ร่างกายและจิตใจของเราอ่อนโยน กระฉับกระเฉง และเฉียบคมอยู่เสมอ อาตมารับจดจำคำสั่งสอนนี้ไว้ด้วยหัวใจ
“สมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา หากปราศจากสมาธิแล้ว ปัญญาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ความเข้าใจการเพิ่มขึ้นและลดลงนี้ จะทำให้บุคคลสามารถประพฤติตนเพื่อเป็นไปในทางก้าวหน้าของปัญญา”
ธรรมบท : 282
สำนักวิปัสสนาที่ยอดเยี่ยมในทิเบต
ในที่สุดโอกาสอันชัดเจนก็มาถึง ในปี ค.ศ. 1994 วัดธุสิตา(Tusita) แห่งธรรมศาลาได้จัดอบรมการฝึกวิปิสสนาเป็นเวลา 12 วัน โดยคนสอนเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำสมาธิชาวอเมริกันชื่อ ดร.อเล็กซ์ เบอร์ซิน(Alex Berzin) ระหว่างการอบรม ท่านถ่ายทอดหลักสำคัญเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาและขั้นตอนพื้นฐานสำหรับการทำวิปัสสนา เริ่มจากการสังเกตเจตนารมณ์ของเราในทุกสิ่งที่กระทำ ระหว่างการอบรมอาตมาได้เรียนรู้ว่าการสำรวจเจตนาแท้ที่จริงก็คือการมีสติสมบูรณ์ของจิตใจ นี่คือการเดินทางเข้าไปค้นพบตัวตนภายใน
หลังการฝึกครั้งนี้ อาตมาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การฝึกวิปัสสนาช่วยสร้างศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาออกจากมหาวิทยาลัยและเลือกเส้นทางการแสวงหาทางจิตวิญญาณโดยเข้าร่วมกับเพื่อนในกรุงนิวเดลี (New Dehli) ที่ซึ่งอาตมายังคงฟังบรรยายเรียนรู้เกี่ยวกับจิต ฝึกวิปัสสนา และอ่านหนังสือธรรมะ คำสอนเรื่องความเมตตา กรุณาและปัญญาได้จุดประกายให้อาตมา รวมทั้งคำสอนเรื่องกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เน้นความรับผิดชอบในการกระทำของตนซึ่งจะก่อให้เกิดผลอย่างใด อย่างหนึ่งในชีวิตตามมา (เปรียบเทียบเช่นการกระทำอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบไม่ว่าจะในทางดีหรือร้ายต่อสิ่งภายนอก) อาตมาได้เรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ของชีวิตที่จะบรรลุนิพพานซึ่งเป็นสภาพที่อยู่เหนือกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก อาตมาประทับใจคำสอนเหล่านี้เป็นอย่างมาก
หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับหมู่สงฆ์ในนิวเดลีเป็นเวลาหนึ่งปี อาตมาจึงออกแสวงบุญจากอินเดียไปยังเนปาล ทิเบต และสุดท้ายมาจบที่ที่ประเทศไทย เคยได้ยินเรื่องหนึ่งพันความสุขหนึ่งพันความเศร้าไหม อาตมาเรียนรู้เรื่องนี้ระหว่างการเดินทาง
“ความสุข ความพอใจใดๆ ที่มี เป็นความพึงพอใจทางโลก สำหรับพระสงฆ์ทั้งหลาย ความพึงใจในทางโลกนั้นไม่มี จึงไม่เกิดความยึดติด แต่เพราะสิ่งในโลกมีนั้นน่าพึงใจ คนจึงหลงไปยึดถือเอา”
AN 3 : 101-2
แสวงหาความพึงพอใจทางโลก
ภาพถ่ายในช่วงที่พระพุทธรักขิตาภิกขุประกอบอาชีพครูสอนดำน้ำ ที่เกาะเต่า ประเทศไทย
ช่วงเวลาแห่งความสุข
หลังจากอยู่ในทิเบตเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษคนหนึ่งแนะนำให้เดินทางมาประเทศไทย อาตมาเริ่มการเดินทางด้วยการกลับไปเนปาลก่อน จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังเกาะสวยที่มีชื่อว่าเกาะเต่า ทางตอนใต้ของไทย ตอนนั้นอาตมาต้องหางานทำ จึงตัดสินใจหัดดำน้ำเพิ่มเติมจนกระทั่งเรียนจบถึงขั้นที่เป็นผู้ฝึกสอนได้ อาตมาจึงกลายมาเป็นครูสอนดำน้ำ มันออกจะตลกอยู่บ้างที่มีผู้ยินดีจ่ายสตางค์ให้ได้ทำในสิ่งสนุกสนานเช่นนี้ แล้วอาตมาก็ติดอยู่กับการเป็นครูสอนดำน้ำ มันเป็นงานที่สนุกมากจริงๆ แต่ในเวลาเดียวกันอาตมาก็มองหาช่องทางที่จะศึกษาและฝึกฝนวิปัสสนาระดับสูงไปด้วย ทว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอให้อาตมาเข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างจริงจัง ในทางกลับกันอาตมากลับได้เรียนรู้ความรื่นรมณ์หอมหวานของชีวิตครูสอนดำน้ำ แต่ละวันผ่านไปมีนักเรียนฐานะดีจากทั่วทุกมุมโลกมาเรียนกับอาตมา แต่เมื่อนานเข้าอาตมาก็เริ่มหมดสนุกกับงานและความสุขที่เคยได้รับ มันเป็นไปได้อย่างไรกัน?
“ความสุขจากผัสสะต่างๆไม่มีทางจะปรนเปรอให้พอใจได้ แม้ฝนจะตกลงมาเป็นเงินเป็นทอง การได้สนองตัณหามอบความสุขให้เพียงเล็กน้อย แต่มาพร้อมกับความทุกข์อันใหญ่หลวง เมื่อเข้าใจสิ่งนี้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่ปรารถนาความสุขในลักษณะนี้แม้กระทั่งบนสรวงสวรรค์ ผู้ศรัทธามั่นในพระพุทธเจ้าย่อมยินดีในความสุขที่เกิดจากการดับลงของตัณหา”
ธรรมบท : 186-87
ช่วงไม่มีความสุข
ก่อนหน้านี้อาชีพครูสอนดำน้ำนำความสุขและข้อดีต่างๆ เข้ามามากมาย แต่หลังจากนั้นอาตมารู้สึกเบื่อหน่ายหดหู่ที่ต้องเห็นนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าผ่านเข้ามาแล้วก็ลาจากไป รวมไปถึงรีสอร์ทราคาแพงที่คล้ายจะสงวนไว้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสตางค์เท่านั้น อาตมาจึงเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตครูสอนดำน้ำและเริ่มเข้าใจถึงอันตรายของมัน หลังตื่นจากมายาภาพแห่งโลกธุรกิจ อาตมาจึงลาออก เดินทางจากประเทศไทยกลับไปยังบ้านเกิดในแอฟริกา เมื่อภายหลังมีชายคนหนึ่งทราบเรื่องที่อาตมาละทิ้งชีวิตอันแสนสุขสบายในรีสอร์ทหรูบนเกาะ เขาคิดว่าอาตมาคงเสียสติไปแล้วและบอกว่าอาตมาควรจะไปพบจิตแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อน...ถ้าอาตมาไม่ได้ออกจากเมืองไทยในตอนนั้น อาตมาอาจจะอยู่ที่นั่นเมื่อคลื่นสึนามิพัดถล่มเกาะพีพี เกือบทั้งเกาะเมื่อปี ค.ศ. 2004 มีคนเสียชีวิตมากมาย ณ จุดที่อาตมาเคยดำน้ำอยู่ เป็นความโชคดีของอาตมาที่ออกจากเกาะกลับไปแอฟริกาก่อนหน้าเหตุการณ์นั้น
“อย่ายึดติดในสิ่งที่น่ารัก และอย่ายึดมั่นในสิ่งที่น่าชัง การขาดสูญของสิ่งอันเป็นที่รัก และการปรากฏของสิ่งอันเป็นที่ชัง เป็นทุกข์ทั้งคู่ ดังนั้น จงอย่ายึดถือสิ่งใดว่าเป็นของรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ ความอาวรณ์ไม่มีกับผู้เข้าใจว่าทุกสิ่งไม่ควรยึดถือเอา ทั้งสิ่งที่จะทำให้รัก และสิ่งที่จะทำให้ชัง”
ธรรมบท : 210-211
สวัสดีและลาก่อน บ้านเกิดเมืองนอนแอฟริกา
รวมเวลาได้เจ็ดปีที่อาตมาเดินทางจากแอฟริกามา เป็นการเดินทางยาวนานที่เปี่ยมไปด้วยสีสันไม่อาจคาดเดา เต็มไปด้วยจุดหักเหพลิกผัน อาตมาตื่นเต้นมากกับการกลับไปเยี่ยมบ้านครั้งนี้ อารมณ์พลุ่งพล่านทันทีที่เครื่องบินลงจอด ณ ท่าอากาศยานเอ็นเท็บเบ้ (Entebbe) ในที่สุดก็กลับมาบ้าน ทุกอย่างดูคุ้นตาแต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างไปจากเดิมอย่างบอกไม่ถูก
ทันทีที่ถึงบ้าน รู้สึกได้ว่าเพื่อนๆ ญาติๆ ต่างตั้งความหวังว่าอาตมาจะกลับมาในฐานะนักธุรกิจผู้ร่ำรวยประสบความสำเร็จ ถือกระเป๋าเอกสารอยู่ในมือข้างหนึ่ง แต่เปล่าเลย อาตมาอยู่ในฐานะของโยคีหัวโล้นชาวพุทธธรรมดาผู้ที่ในกระเป๋ามีอุปกรณ์ดำน้ำกับหนังสือธรรมะอยู่หลายเล่ม ทุกคนต่างไม่เข้าใจว่าอาตมานำสองสิ่งนี้กลับมายังแอฟริกาทำไม ในยูกันดาไม่มีวัดหรือครูสอนศาสนาพุทธแม้แต่คนเดียว แล้วก็ไม่มีทะเลให้ดำน้ำด้วย
ญาติๆ หลายคนเสนอที่จะฆ่าแกะหรือไก่เพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงต้อนรับเป็นการให้เกียรติการกลับมาของอาตมา แต่อาตมาไม่อนุญาติเพราะไม่อยากให้สัตว์ตัวไหนต้องถูกฆ่าเพราะอาตมา
ทุกคนพยายามจะเปลี่ยนให้อาตมากลับไปนับถือศาสนาคริสต์อีกครั้ง แต่ตอนนั้นอาตมามีความเลื่อมใสหนักแน่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ญาติห่างๆ บางคนถึงกับแนะให้อาตมาเผาหนังสือธรรมะทิ้งเสียให้หมดแล้วหันกลับมาอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล (Bible) แทน แต่แน่นอนว่าอาตมาปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาจึงรู้สึกหมดหนทาง ผิดหวัง และไม่ปรารถนาอาตมาอีกต่อไป
อาตมายังคงฝึกวิปัสสนาเงียบๆ คนเดียวต่อไปในห้องนอน อ่านหนังสือธรรมะที่นำมาด้วยจากเอเชีย แต่หลังจาก หลายปีในอินเดียและเอเชีย ที่ซึ่งอาตมามีเพื่อนและครูที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณเหมือนๆ กัน ที่ยูกันดาอาตมากลับไม่มีเพื่อนอย่างที่ว่าให้คบหาพูดคุยด้วยเลยแม้แต่คนเดียว
อาตมารู้สึกถึงความปรารถนาที่ยังคงพร่องหายไป อีกทั้งรู้สึกสิ้นหวัง ผิดหวัง และหมดความอดทนกับสภาพเช่นนี้ จึงตัดสินใจจากยูกันดาไปเป็นครั้งที่สองเพื่อตามหาสัจธรรมอันลึกซึ้ง และในครั้งนี้อาตมาตั้งใจจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการพัฒนาทางจิตใจเพียงอย่างเดียว
“คนคนหนึ่งแม้อายุยืนยาว 100 ปี ถ้าปราศจากปัญญาและการควบคุมตัวเองเสียแล้ว เปรียบไม่ได้กับผู้มีชีวิตเต็มด้วยสติและปัญญาที่มีชีวิตอยู่เพียง 1 วัน” เพียงหนึ่งวันที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรักษาศีลและครองสติไว้ให้มั่นคง มีค่ามากกว่าหนึ่งร้อยปีแห่งชีวิตที่ปราศจากศีลและการบำเพ็ญภาวนาเพียงหนึ่งวันที่มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและการดำรงสติอย่างแน่วแน่ มีค่ามากกว่าหนึ่งร้อยปีของชีวิตที่ปราศจากปัญญาและสติสัมปชัญญะ”
ธรรมบท : 110-111
ยินดีต้อนรับสู่อเมริกา
อาตมาใช้เวลาหนึ่งปีในทวีปอเมริกาใต้ ท่องเที่ยวและฝึกวิปัสสนาด้วยตนเอง ก่อนที่จะเดินทางถึงสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1999 อาตมาเข้าร่วมกับกลุ่มวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูงไอเอ็มเอส (IMS - Insight Meditation Society) ในเมืองแบร์ (Barre) รัฐเมสซาชูเสจ (Massachusettes) เป็นเวลาสามเดือน ในที่สุดอาตมาได้พบกับกลุ่มคนที่มีความสนใจอย่างจริงจังเหมือนๆ กัน กลุ่มคนที่ปฏิบัติตามแนวทางคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ คณะสงฆ์และสถาบันไอเอ็มเอสได้กลายมาเป็นบ้านทางจิตวิญญาณ บ้านหลังที่สองของอาตมา แม้อาตมาวางแผนไว้ว่าจะกลับไปยังอเมริกาใต้หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม แต่อาตมากลับเข้าร่วมงานกับทีมงานของไอเอ็มเอสจนถึงปี ค.ศ. 2000 ช่วงนั้นอาตมาทั้งทำงานไปด้วยทั้งเรียนไปด้วยกับอาจารย์หลายท่าน เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกฝนอบรมหลายครั้ง
อาตมาพบกับภันเต กุนารัตนะ (Bhante Gunaratana) ที่ไอเอ็มเอสนี้เองในปี ค.ศ.2000 เมื่อท่านเดินทางมาสอนวิปัสสนา ท่านจะออกไปเดินทุกๆวันของการฝึกอบรม ครั้งหนึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการเดินด้วยกัน ภันเต กุนารัตนะชวนให้อาตมาไปเยี่ยมท่านที่กลุ่มภาวนา (Bhavana Society) ที่แห่งนี้ภายหลังได้กลายมาเป็นสถานที่ที่อาตมาใช้จำวัด “บ้านของสมณเพศ” ภายหลังการอุปสมบท
ทุกสรรพสิ่งเกิดจากเหตุและเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาตมาที่ไอเอ็มเอส เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงในชีวิต บางสิ่งบางอย่างอาจดูมั่นคงแข็งแรง แต่ทันทีที่เหตุปัจจัยเปลี่ยนไป ความมั่นคงแข็งแรงนั้นก็สลายลงไปทันที อาตมาจำต้องจากไอเอ็มเอสไปอย่างไม่ทันตั้งตัว
มีคำกล่าวหนึ่งว่า “หัวมุมไม่ใช่จุดสิ้นสุดของถนนสายนั้น นอกจากคุณไม่เลี้ยวไปตามทาง” ตอนนี้อาตมาต้องหักเลี้ยวครั้งใหญ่ในชีวิต แล้วมันจะพาอาตมาไปที่ไหนน่ะหรือ....
“ทางหนึ่งคือทางสู่ความมั่งมีทางโลก ส่วนอีกทางหนึ่งคือหนทางสู่พระนิพพาน เมื่อเข้าใจสิ่งนี้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว พระสงฆ์ศิษย์ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย จงอย่าปล่อยให้เครื่องผูกพันทางโลกมาทำให้ไขว้เขวอยู่เลย จงเร่งพัฒนาเพื่อความหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น”
ธรรมบท : 75
การละทิ้ง
อาตมาตัดสินใจแล้วว่าจะทิ้งเรื่องทางโลก ทรัพย์สินภายนอกไม่สามารถทำให้อาตมาพึงพอใจได้อีกต่อไป จากประสบการณ์ในเมืองไทย ความสุขของการศึกษาพุทธศาสนาทำให้อาตมาต้องการจะทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาและฝึกปฏิบัติ อาตมาจึงตัดสินใจละทิ้งความสุขที่น้อยกว่า (ความสุขทางโลก) เพื่อสิ่งที่สำหรับอาตมาแล้วนับว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า … นั่นคือการพัฒนาจิตวิญญาณ หลังจากสามเดือนของการอบรมที่ไอเอ็มเอสทำให้อาตมาตระหนักดียิ่งขึ้นไปอีกว่าความสุขที่แท้จริงนั้นมาจากภายใน ไม่ใช่จากปัจจัยภายนอก แน่นอนว่าเราต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นตัวช่วย (วัตถุทางโลกต่างๆ)ให้จิตของเราพัฒนาไป แต่ปัจจัยภายนอกเหล่านั้นไม่ใช่แก่นสารหรือจุดหมายปลายทางที่แท้จริง ถ้าเราตั้งปัจจัยภายนอกเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตแล้วล่ะก็ วัตถุประสงค์ที่มีคุณค่าแท้จริงของชีวิตจะเลือนลาง เป้าหมายของชาวพุทธที่แท้นั้นคือการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเพื่อไปถึงนิพพานให้ได้ในที่สุด
อาตมาตกลงใจจะเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ออกบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แต่การอุปสมบทจะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัดและพระสงฆ์อาวุโสรูปหนึ่งซึ่งเต็มใจจะรับอาตมาเป็นศิษย์ อาตมาควรจะไปที่ไหนดี?
“พึงละทิ้งหนทางที่มืดมน ผู้มีปัญญาย่อมเลือกเดินไปตามทางสว่างออกจากทางโลกไปสู่ทางธรรม ปรารถนาพบพานความความสุขจากการปล่อยวางซึ่งยากจะหาความสนุกสนาน ละทิ้งความสุขที่ขึ้นกับผัสสะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีกต่อไป ชำระร่างกายจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจทั้งมวล”
ธรรมบท : 87-88
เดินทางเข้าสู่เพศบรรพชิต
เพื่อนของอาตมาแนะนำให้อาตมาไปที่ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนาตถาคต (Tathagata) ทีเอ็มซี - TMC - Tathagata Meditation Centre ในเมืองซาน โฮเซ่ (San Jose) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) เขาบอกกับอาตมาว่าผู้คนที่นั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบาสกอุบาสิกาชาวเวียดนามมีจิตใจงดงามยิ่ง ถึงแม้ว่าที่แห่งนี้จะเป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติธรรมเล็กๆ ก็ตาม หลังพิจรณาทางเลือกต่างๆอาตมาเดินทางไปที่นั่นในปี ค.ศ. 2001 ได้พบกับท่านปัณณาธิภา (Pannadipa) ที่แปลกคืออาตมาขอบวชกับท่านในทันที อาตมาไม่เคยทราบถึงพิธีการขอบวชมาก่อน ท่านดูแปลกใจอย่างยิ่งที่เห็นชาวแอฟริกันผิวสีคนหนึ่งมีปณิธานแรงกล้าที่จะออกบวชโดยไม่เคยผ่านการอบรมก่อนบวชอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าอาตมาจริงจังแค่ไหน อาตมาค่อนข้างจะวิตกกับการเปลี่ยนแปลงในคราวนี้ ท่านปัณณาธิภา (Pannadipa) อนุญาติให้อาตมาอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อเตรียมตัวสำหรับการอุปสมบท อาตมาเริ่มฝึกวิปัสสนาอย่างเข้มข้นไปพร้อมกับเรียนรู้การใช้ชีวิตในเพศบรรพชิต ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ทีเอ็มซี ซาน โฮเซ่ แคลิฟอเนียร์ ในปี ค.ศ.2002 โดยอาจารย์ของอาตมาคือท่านซายาดอว์ ยู สิละนันทะ (Sayadaw U. Silananda)
พระพุทธรักขิตาภิกขุ
ผ่านไปช่วงหนึ่งอาตมาจึงย้ายไปอยู่กับกลุ่มภาวนา (Bhavana Society) ที่เวสท์ เวอร์จิเนียร์ (West Virginia) เพื่อศึกษากับท่านภันเต กุนารัตนะ(Bhante Gunaratana) การเดินทางในอเมริกาของอาตมาได้มาสิ้นสุดลงในสถานที่สงบสุขแห่งนี้ที่อาตมาใช้พำนักอยู่เป็นการถาวร
แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าไปถึงยูกันดาได้อย่างไร?
อาตมาพร้อมแล้วหรือที่จะกลับไปพบกับเพื่อนชาวแอฟริกันที่เกือบทั้งหมดไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธมาก่อนเลย
อาตมาควรไปปฏิบัติวิปัสสนาในถ้ำที่ประเทศอินเดียหรือเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแอฟริกามากกว่ากัน
“จงออกไปเผยแผ่ธรรมะด้วยความเมตตาให้กับโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ ท่านทั้งสองจงอย่าไปทางเดียวกัน แสดงธรรมให้ถึงพร้อมในตอนต้น ให้ถึงพร้อมในตอนกลาง และให้ถึงพร้อมในตอนท้าย”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

**************************************

ภาพประกอบ จากหนังสือ Planting Dhamma Seeds by Buddharakkhita Bhikkhu
Website ศูนย์พระพุทธศาสนายูกันดา :  


http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/tips_detail.php?ID=4125&SECTION=41

No comments:

Post a Comment