ประเทศอินเดียได้ถูกประเทศตะวันตกคืออังกฤษปกครองมาประมาณ ๘๐๐ ปี(๑) จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อินเดียก็ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ มีมหาตะมะ คานธี เป็นผู้นำขบวนเรียกร้องขอเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ ความดับสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดีย เกิดขึ้นพร้อมกับความสูญเสียเอกราชของชาวอินเดียไปด้วย ครั้นเอกราชกลับคืนมาพระพุทธศาสนาก็เริ่มส่องแสงเรืองรองขึ้นมาใหม่ ชาวพุทธทั่วโลกต้องขอบคุณท่านเซอร์อเล็กซานเดอร์คันนิงเเฮม ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกขุดค้นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาให้ขึ้นมาปรากฏแก่สายตาชาวอินเดียและชาวโลก ทำให้ชาวอินเดียเริ่มสนใจต่อมรดกอันเก่าแก่ของตนเอง จึงเกิดการศึกษาพุทธศาสนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนชาวอินเดีย แต่องค์กรเผยแผ่พุทธศาสนายังไม่เกิดขึ้น
จนมาถึงสมัย ท่านธัมมปาละ ท่านผู้นี้เป็นบุตรของคฤหบดีชาวลังกาในเมืองโคลัมโบ เวลานั้นในลังกาอิทธิพลของคาทอลิกครอบงำทั่วทุกหนทุกแห่ง เด็กชาวพุทธเกิดใหม่ต้องไปจดทะเบียนใช้ชื่อในศาสนาคริสต์ ดังนั้น ท่านธัมมปาละจึงมีชื่อว่า ดอน เดวิด ท่านต้องเข้าโรงเรียนมิชชันนารี เวลานั้นท่านอายุได้ ๗ ปี บิดาของท่านได้พาไปปฏิญญาต่อหน้าพระสุมังคลนายกเถระว่าจะไม่เปลี่ยน ศาสนาเมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี วันหนึ่งได้นำหนังสือธรรมบทเข้าไปอ่านในชั้น บาทหลวงเห็นเข้าก็ไม่พอใจ แย่งหนังสือโยนทิ้งไปแล้วลงโทษท่าน พร้อมทั้งขู่ว่า "เจ้าเข้าใจพวกเราอย่างไร พวกเรามาที่นี่ก็เพื่อเปลี่ยนพวกเจ้าให้เป็นคาทอลิกหมด" การกระทำที่ป่าเถื่อนเช่นนี้ ฝังใจให้เด็กปาละเกิดความ รู้สึกที่จะต้องต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนา
ต่อมา ท่านได้ไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตแล้วกลับมาลังกา แล้วรณรงค์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวพุทธในลังกา ต่อมาก็เดินทางไปพุทธคยาพร้อมกับพระญี่ปุ่นชื่อว่าโกตาเสน ได้เห็นสภาพทรุดโทรมของพุทธคยาแล้ว ท่านเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง ได้กระทำสัจกิริยาถึง ๗ ครั้งหน้าพระศรีมหาโพธิ์ อุทิศชีวิตของตนเองเพื่องานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่านจึงถือเพศเป็นอนาคาริกะ มรดกที่ได้จากสกุลถูกนำมาทุ่มเทเพื่องานพระศาสนาจนหมดสิ้น ท่านได้ก่อตั้งพระศรีมหาโพธิ์สมาคมขึ้นที่กัลกัตตา และออกนิตยสารเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษชื่อว่า มหาโพธิ รีวิว (Mahaphodhi Reviews) หนังสือฉบับนี้มีอายุยืนมาถึงปัจจุบัน นับเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาที่ยาวนานที่สุดในโลกในภาคภาษาอังกฤษ ทรัพย์สินของท่านหมดไปแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว
แต่เมฆดำมักจะมาก่อนฝนตกเสมอ ท่านธัมมปาละก็โชคดีเพราะในคราวที่มีการประชุมสันนิบาตศาสนาทั่วโลกที่ชิคาโก อเมริกา ท่านเป็นผู้แทนของชาวพุทธ เมื่อเดินทางผ่านเมืองฮอนโนลูลู ในหมู่เกาะฮาวาย มีเศรษฐินีชาวฮาวายผู้หนึ่งชื่อว่า มิสซิส อี.จี. ฟอสเตอร์ ได้มาขอคำแนะนำ จากท่านในเรื่องวิธีดับความโกรธ หลังจากฟังท่านปาฐกถา ๒ ชั่วโมง หญิงอเมริกันผู้นี้ได้กลายเป็นชาวพุทธไปทันที และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐายิกาของท่านตลอดชีวิต และได้สละทรัพย์มากมายช่วยเหลือท่านธัมมปาละฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย
ปัจจุบันนี้ ตึกของมหาโพธิ์สมาคมหลังหนึ่งในเมืองกัลกัตตาได้รับการตั้งชื่อตึกว่า อี. จี. ฟอสเตอร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มหาอุบาสิกาผู้นี้ ท่านธัมมปาละได้ตั้งมหาโพธิสมาคมตามสถานที่สำคัญๆ เกือบทุกแห่งและยังได้ตั้งมหาโพธิสมาคมในกรุงลอนดอนอีกด้วย ท่านได้ตรากตรำงานธรรมทูตกว่า ๕๐ ปี ท่านก็ถึงมรณกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเป็นภิกษุรูปแรกที่ได้อุปสมบทในสีมามูลคันธกุฎีวิหาร ปัจฉิมโอวาทของท่านก็คือ "ขอให้ข้าพเจ้าตายเร็วๆ ข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อพยาธิทุกข์นี้ได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดใหม่อีก ๒๕ ครั้ง เพื่อประกาศพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อัฐิของท่านได้ถูกนำไปสู่ลังกา มีประชาชนมาในงานต้อนรับกว่าหนึ่งแสนคน ท่านธัมมปาละถือได้ว่าเป็นบุคคลอมตะในโลกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
http://learners.in.th/blog/historyofbuddhist/263053
No comments:
Post a Comment