Sunday, October 10, 2010

ชยสาโรภิกขุ : วิถีพุทธ วิถีแห่งสากล

ชยสาโรภิกขุ : วิถีพุทธ วิถีแห่งสากล

อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าชาวตะวันตกสักคนหนึ่งจะเข้าถึงแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา

อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินเป็นไปได้ ในเมื่อพุทธศาสนานั้นมิใช่ศาสนาแห่งความเชื่อ หากแต่เป็นศาสนาแห่งการแสวงหา

พระฝรั่งวัดป่ารูปหนึ่งประกาศกล่าวอย่างหนักแน่นไว้ในเบื้องแรกว่า การได้พบวิถีพุทธ คือความเป็นที่สุดแห่งชีวิตของท่าน เป็นความพอ และความพอดี

เวลาผ่านมานานร่วมสามสิบปี หลังจากเดินทางออกจากประเทศอังกฤษแผ่นดินเกิด มายังประเทศไทยเพื่อบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ปวารณาตนเป็นศิษย์หลวงพ่อชา ปัจจุบันจำพรรษาเพียงลำพังในที่พักสงฆ์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

วิถีแห่งพุทธยังคงเป็นที่สุดแห่งชีวิต หากแต่มีรายละเอียดและความหมายใหม่ๆ ในการเข้าถึงสารัตถะ

ด้วยการไตร่ตรอง เพ่งพินิจ ท่านประจักษ์แจ้งว่า พุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษา เป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ เป็นระบบการศึกษาที่พาดิ่งลึกเข้าไปในตัวตนอันกว้างใหญ่แห่งทุกข์ เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน

เมื่อพุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษา ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้หรือที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาสมัยใหม่

ชยสาโรภิกขุ ได้แสดงทัศนะเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน พุ่งตรงเข้าสู่หัวใจ

มองย้อนกลับไปยังหนทางความรุนแรงของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อ มิได้มาจากการไตร่ตรอง การแบ่งแยกจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากจะมีหนทางใดที่พามนุษย์พ้นไปเสียจากความแตกต่างนั้น

แนวทางนั้นย่อมมีความเป็นสากลอย่างที่สุด

ในความเป็นสากลแห่งพุทธศาสนา สำคัญต่อระบบการศึกษา จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เกื้อหนุนการพัฒนาชีวิต นำไปสู่สัมมาทิฐิ ลดความรุนแรงยุ่งเหยิงบนโลก

แต่เหตุใดกันเล่า ผู้คนที่ถือกำเนิดในแผ่นดินที่ความจริงสากลสำคัญนี้หยั่งราก จึงเคยคิดกังวลแต่เพียงว่า

สิ่งนี้ยังไม่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ!!


>>ในฐานะที่เป็นชาวตะวันตก ท่านอาจารย์เริ่มต้นการแสวงหาจนเป็นภิกษุในพุทธศาสนาได้อย่างไร?

การจะบอกจุดเริ่มต้น คงจะยาก แต่ว่าตอนเด็กตั้งแต่อายุขวบเศษๆ อาตมาเป็นโรคหืดหอบ ป่วยจนถึงอายุสักสิบสี่สิบห้าถึงเริ่มรู้สึกปกติ เพราะฉะนั้นช่วงเด็กจะขาดโรงเรียนบ่อย อยู่ที่บ้านคนเดียว ก็ติดนิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ อาตมาอาจเป็นเด็กที่ชอบคิด ชอบพิจารณาอะไรที่เด็กอายุแค่นั้นไม่ค่อยได้คิด ชอบอ่านหนังสือมาก มีหนังสือเป็นเพื่อน

พอเข้าวัยรุ่นแล้วก็เริ่มคิดว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาทำไม ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร ความดีงามคืออะไร ความดีความงามนั้นมีกฏตายตัวของธรรมชาติ หรือว่าเป็นแค่บทสรุปของแต่ละวัฒนธรรม ว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ชั่ว แล้วแต่ใครจะคิด หรือว่ามีกฏอะไรที่เป็นกฎตายตัวหรือเปล่า แล้วก็สนใจว่าทำไมทุกคนในโลกต้องการสิ่งเดียวคือความสุข แต่แทบจะหาไม่เจอสักคนที่ยืนยันได้ว่า ตัวเองเข้าถึงความสุขที่แท้จริงแล้ว แล้วทำไมโลกนี้เต็มไปด้วยการเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ยุติธรรม ทำไมมีสงคราม ทำไมบางคนรวยมากๆ ในขณะที่คนอีกหลายร้อยล้านแทบจะไม่มีอาหารกินเลย ก็สงสัยเรื่องราวของชีวิตคน เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ที่ประเทศอังกฤษ ทุกวันนี้ นักวิชาการเรียกว่าเป็นสังคมหลังคริสต์ ในอเมริกานี่ศาสนาคริสต์ยังมีบทบาทค่อนข้างสำคัญ แต่ในยุโรปบทบาทค่อนข้างน้อยมาก อาตมาเองเติบโตมาในครอบครัวที่จะว่าไม่ใช่คริสต์ก็ไม่เชิง คือเป็นครอบครัวที่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาเท่าไหร่

>>แต่จะพูดได้หรือไม่ว่าท่านอาจารย์เติบโตมาในครอบครัวคริสต์ศาสนิกชน

ถ้าถามโยมแม่ โยมแม่ก็คงตอบว่าเป็นคริสต์ แต่ว่าเป็นคริสต์โดยทะเบียนบ้าน แต่โยมพ่อนั้นก็ไม่ได้ชอบศาสนา

ประเทศอังกฤษเป็นโปรเตสแตนต์ แต่ว่าทั้งยุโรปทุกวันนี้ คนส่วนมากแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับศาสนา อาตมาก็เติบโตกับครอบครัวที่ไม่มีศาสนา และไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องมีศาสนา ก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไร แล้วอาตมาก็เป็นเด็กที่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ ยิ่งอ่านประวัติศาสตร์ของศาสนาประจำชาติเดิม บทบาทในเรื่องสงครามศาสนา ในเรื่อง Crusade บทบาททางการเมือง โดยเฉพาะในการแสวงหาอาณานิคมของอังกฤษ ของฝรั่งเศษ ก็ยิ่งไม่ศรัทธาใหญ่ อาตมาก็สรุปได้ว่าศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อ เป็นความเชื่อในคัมภีร์ ก็ไม่เห็นจะมีคำตอบต่อปัญหาที่ตัวเองกำลังสนใจอยู่ ก็เลยไม่สนใจเรื่องศาสนา แต่สนใจเรื่องชีวิต สนใจเรื่องจิตใจ ในช่วงนั้นอายุสิบห้าสิบหก ได้อ่านหนังสือมาก อ่านหนังสือทางปรัชญา หนังสือทางพุทธศาสนา จิตวิทยา

>>บรรดาหนังสือทางปรัชญาที่ได้อ่านก็เป็นปรัชญาตะวันตกทั้งหมดใช่หรือไม่?

เริ่มต้นด้วยปรัชญาตะวันตก แต่ไม่ศรัทธา เพราะอาตมามีความเห็นว่า ปรัชญาที่เชื่อถือใดๆ นั้น ตัวนักปรัชญาเองต้องเป็นตัวอย่าง อาตมาต้องดูประวัติของนักปราชญ์ด้วยว่าวิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร เพราะว่าส่วนมากนักปราชญ์ตะวันตกเขียนเก่ง แต่ชีวิตส่วนตัวนี่ใช้ไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขียน ก็เลยไม่ศรัทธา จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอหนังสือทางพุทธศาสนา อ่านแล้วก็รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกซาบซึ้งตั้งแต่หน้าแรกว่า นี่คือสิ่งที่เราแสวงหามานาน เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ คนตะวันตกเขียน

อาตมาขออธิบายเรื่องฉากหลังเสียก่อนว่า ชาวตะวันตกนั้นให้ความสนใจเรื่องภาษาสันสกฤตมาตั้งแต่สองสามร้อยปีที่แล้ว โดยนักภาษาศาสตร์เชื่อว่า สันสกฤตเป็นแม่ของภาษา ทุกภาษาสืบมาจากภาษาสันสกฤต ตอนหลังก็พิสูจน์ว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่นั่นก็เป็นความเชื่ออยู่ระยะหนึ่ง แล้วมหาวิทยาลัยในตะวันตกเกือบทุกแห่งก็ต้องศึกษาสันสกฤต เมื่อศึกษาสันสกฤตก็ศึกษาบาลีด้วย พอศึกษาบาลีสันสกฤตก็ต้องศึกษาพุทธศาสนาด้วยโดยที่เลือกไม่ได้

นอกจากนั้นอังกฤษก็เป็นมหาอำนาจ เมื่อมาบริหารทั้งอินเดีย ศรีลังกา พม่า แล้วมีพวกข้าราชการที่เกิดสนใจในเรื่องศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้นก็มีคนศึกษาในเชิงวิชาการด้านพุทธศาสนามานานแล้ว พระไตรปิฎกถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะเป็นภาษาไทยด้วยซ้ำ พระไตรปิฎกแปลเสร็จเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ร้อยสามสิบร้อยสี่สิบปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ทางตะวันตก สามารถเรียนพระไตรปิฎกในภาษาอังกฤษได้มานานแล้ว ซึ่งในช่วงแรกมีความสนใจพุทธศาสนาในทางฝ่ายเถรวาทกันมาก มีศูนย์กลางอยู่สองประเทศคือ อังกฤษ กับ เยอรมนี ตอนหลังเมื่อชาวจีน ชาวญี่ปุ่น อพยพไปอยู่อเมริกากันมาก แล้วก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีอีกระลอกหนึ่ง โดยมีศูนย์กลางที่อเมริกา ที่สนใจพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะทางเซน เมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นแฟชั่นสำหรับนักปราชญ์สมัยใหม่ เป็นเรื่อง coolที่สุดที่จะศึกษาเรื่องของเซน พวกศิลปิน นักปรัชญา หลายคนหันมาสนใจศาสนาและแนวความคิดของตะวันออก

การที่เป็นเช่นนั้นเพราะก่อนหน้านี้ชาวตะวันตกจะเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก เชื่อว่าเราเป็นพวกศิวิไลซ์ พวกเอเชีย พวกแอฟริกา เป็นพวกต่ำต้อย เรามีหน้าที่ที่จะต้องเผยแผ่วัฒนธรรม เผยแผ่ศาสนาของเราทั่วโลก เพื่อเขาจะได้ยกระดับชีวิต เขาก็เชื่ออย่างนั้น แต่ปรากฏว่าประเทศที่เขาถือว่าสุดยอดทางการพัฒนาทางวัฒนธรรมตะวันตก คือ เยอรมนี ไม่ว่านักเขียน นักดนตรี นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ อันดับหนึ่งนี่อยู่ที่เยอรมัน แต่กลายเป็นว่าสุดยอดของวัฒนธรรมกลายเป็นที่เกิดของนาซี นำมาซึ่งความรุนแรง ความโหดร้าย

ซึ่งพวกนักปราชญ์ก็เริ่มคิดว่า เป็นไปได้ไหมว่าวัฒนธรรมที่เราเคยภาคภูมิใจมากมาถึงจุดตันแล้ว มันผิดทางแล้ว ก็เกิดความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้จากวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะทางตะวันออก ฉะนั้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีทหารอเมริกันไปอยู่ญี่ปุ่นกันเยอะ อเมริกันไปบริหารญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไปศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายเซน แล้วก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการแปลหนังสือจากภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาอังกฤษ ก็ทำให้พุทธศาสนาเป็นที่สนใจของชาวอเมริกันในยุคทศวรรษที่ 1950 และ 1960

แล้วช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงสงครามเวียดนาม ก็เป็นยุคแรกที่เด็กหนุ่มจากตะวันตกสามารถเดินทางมาเอเชีย คือ การเดินทางมามันจะมีสามกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่ง คือ ทหารจีไอ อย่างเช่นที่มาอยู่เมืองไทย สอง คือพวก peace corpหรืออาสาสมัคร แล้วพวกที่สาม คือพวกฮิปปี้ นี่แหละคือชาวตะวันตกที่เป็นรุ่นแรกของการพัฒนาพุทธศาสนา การเผยแผ่พุทธศาสนาถึงปัจจุบันส่วนมากสืบมาจากสามกลุ่มนี้


คัดลอกจากบทสัมภาษณ์ ชยสาโรภิกขุ

วารสาร ฅ.คน

ปีที่ 3 ฉบับที่ 7 (31) พฤษภาคม พ.ศ. 2551


http://gotoknow.org/blog/copy2u/182483

No comments:

Post a Comment