Tuesday, March 8, 2011

ชาวยุโรปผู้นับถือพุทธศาสนารุ่นแรก

จากหนังสือ งานฉลองเจดีย์วัดป่าพุทธรังษี ปี 2534 โดย พระราชสีลาภรณ์ (สมัย สุขสมิทฺโท)

ประมาณ ๓๕๐ ปีก่อนคริสตศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีซ ได้ยาตราทัพผ่านเอเชียไมเนอร์ รบชนะเปอร์เซีย จนมาถึงอินเดียภาคเหนือ พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่อินเดียภาคเหนือ ไม่นานก็ต้องเสด็จกลับ เพราะแม่ทัพนายกองคิดถึงบ้านกันมาก เพราะรอนแรมอยู่ในสงครามเสียหลายปี แต่พระองค์ก็ทรงมอบหมายให้แม่ทัพนายกองและทหารบางส่วนอยู่ปกครองบ้านเมือง ต่าง ๆ ที่ยึดได้ สมัยนั้นพระเจ้าจันทรคุปต์แห่งวงศ์เมาริยะปกครองอินเดีย เป็นกษัตริย์ที่มีเดชานุภาพมาก เมื่อทรงชราภาพแล้วก็ได้มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสชื่อ พระเจ้าพินทุสาร พระองค์ทรงครองราชย์มา ๒๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นพระโอรสได้ครองราชย์สืบแทนเป็นเวลา ๔๐ ปี พวกเราชาวพุทธทั้งหลายถือกันว่าเป็นยุคทองแห่งการเผยแพร่พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาสู่ศรีลังกาและสุวรรณภูมิในยุคนี้ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐

ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่า ด้วยอิทธิพลของวัดวาอารามและประชาชนอินเดียเป็นจำนวนมากที่นับถือพระพุทธศาสนา และด้วยอำนาจบุญบารมีของพระอริยะสงฆ์ในสมัยนั้น คงทำให้ชาวกรีกและลูกหลานได้เปลี่ยนใจมานับถือพระพุทธศาสนาบ้างไม่มากก็น้อย เล่ากันว่า พระเจ้ามิลินท์ที่ถามปัญหาธรรมกับพระนาคเสน ในหนังสือมิลินท์ปัญหานั้นก็เป็นชาวกรีก และพระพุทธรูปรุ่นแรกยุคคันธารราฐ ก็เข้าใจว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะกรีกเช่นเดียวกัน นักประวัติศาสตร์บางคนคิดกันว่า พระมารดาของพระเจ้าอโศกนั้นเป็นชาวกรีกด้วยซ้ำไป

หลังจากสังคายนาครั้งที่สาม หมดบุญพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว พระพุทธศาสนาในอินเดียก็คอยเสื่อมลงเรื่อย ๆ กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหมดบุญกันตอนนี้ หากจะยังรุ่งเรืองอยู่บ้างก็เป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จนถึง พ.ศ. ๑๗๓๕ ( ค.ศ. ๑๑๙๒) กองทัพอิสลาม โดยแม่ทัพชื่อ อิคตียาร์ ได้ยาตราทัพเข้าสู่รัฐพิหาร ทำลายเมืองโอทันตะบุรีอันเป็นเมืองหลวง เผามหาวิทยาลัยนาลันทาอันมีชื่อเสียงของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ เหลือเพียงเถ้าถ่าน ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอินเดียก็จบลงเพียงเท่านี้ หากเปรียบพระพุทธศาสนาเหมือนต้นโพธิ์ กองทัพอิสลามก็เหมือนลมพายุแรง ความชราภาพของต้นโพธิ์และด้วงหนอนที่เจาะกินข้างในของต้นโพธิ์นั้นเปรียบ เหมือนความอ่อนแอเสื่อมโทรมของผู้นับถือพระพุทธศาสนาในยุคนั้น ขณะที่แสงเรืองรองวันสุดท้ายของพระพุทธศาสนากำลังจะอัสดงดับที่อินเดียนั้น รุ่งอรุณอันเจิดจ้าของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทดั้งเดิมกำลังทอแสงงามที่ศรีลังกาและสุวรรณภูมิ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็กำลังทอแสงเรืองรองที่ธิเบตและจีน สัจธรรมอันดีงามของพระพุทธองค์จะไม่สิ้นสูญไปจากโลกง่าย ๆ แม้คนหนึ่งจะดูถูกเหยียดหยามไม่เคารพเอาเลย แต่อีกคนก็ยังกราบไหว้บูชาเคารพนับถือเป็นชีวิตจิตใจ ดังที่ท่านผู้อ่านจะเห็นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระพุทธศาสนา

ในปี พ.ศ. ๑๗๔๕ (ค.ศ. ๑๒๐๒) อัคตียาร์ได้บุกเข้ารัฐเบงกอล ทำลายเมืองนาเดียซึ่งมีเจ้าลักษมันเศรษฐาเป็นผู้ปกครอง การรบชนะครั้งนี้ทำให้แม่ทัพแขนยาวได้รับบำเหน็จรางวัลมากมาย และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๑๗๔๘ (ค.ศ. ๑๒๐๕ ) อัคตียาร์พร้อมกองทหาร ๑๐,๐๐๐ คน ได้ยาตราทัพมุ่งเข้าสู่ธิเบตเพื่อที่จะเผด็จศึกประเทศที่นับถือพุทธศาสนา เป็นรายสุดท้าย แม้จะเป็นฤดูร้อน แต่ฟ้าดินท่านลงโทษอากาศแถวเทือกเขาหิมาลัยหนาวผิดปกติ น้ำทุกแห่งกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้ทหารตาย ม้าตาย และกองทหารธิเบตที่รักษาด่านต่าง ๆ ก็สู้แบบ ถวายชีวิต อัคตียาร์จึงถอนทัพกลับด้วยความปราชัย พอกลับมาถึงเมืองนาเดีย รัฐเบงกอล มีทหารเหลือรอดตายมาเพียง ๑๐๐ คนเท่านั้น และไม่นานจากนั้นอัคตียาร์ก็ถูกลอบปลงชีวิต

ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบว่าพระพุทธศาสนาในยุคมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นอย่างไร ก็ขอให้ท่านดูองค์ดาไลลามะ และพระธิเบตในยุคนี้ก็ได้ ก่อนที่กองทัพอิสลามจะบุกทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทานั้น นักปราชญ์อาจารย์ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยนาลันทาหลายรูปได้หลบหนีเข้า ไปอยู่ที่ธิเบตแล้ว สิ่งที่ท่านสอนในยุคก่อนโน้น และสิ่งที่กองทัพอิสลามได้ทำลายลงไปนั้น ชาวพุทธทั้งหลายผู้มีเมตตาและให้อภัยได้หลงลืมกันไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ชาวฮินดูบางกลุ่มที่เดือดร้อนวุ่นวายตามชำระบัญชีกันอยู่ ถ้าท่านผู้อ่านทั้งหลายเคยไปเที่ยวแถวกรุงเดลี แอคครา สุเหร่า หอสูงมัสยิดอันเก่าแก่ของอิสลามนั้นก็ล้วนแล้วแต่ได้อิฐได้หินที่รื้อมาจาก โบสถ์ฮินดูและวัดวาอารามของพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธสำนึกอยู่เสมอว่าเวรนั้นย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร ถ้าหากชาวอินเดียที่เป็นฮินดูและอิสลามไม่เชื่อพระพุทธพจน์บทนี้ ก็คงจะต้องลำบากไปอีกนานเท่านาน...

http://www.thaitempleaustralia.org.au/th/index.php?page=alias-4

No comments:

Post a Comment